สืบเนื่องจากคราวที่แล้วเนื่องจากโดยทั่วไปแล้วเราต้องการข้อเท็จจริงมากขึ้น มีสองจุดที่เราต้องนิยามกันก่อนให้ชัดๆ คือ
- อะไรคือข้อเท็จจริง
- ข้อเท็จจริงนั้นเชื่อถือได้เพียงใด
ผมเคยเจอกระทู้หนึ่งในห้องราชดำเนินของ pantip.com ที่น่าสนใจมากๆ คือมีคนพยายามตอบคำถามว่ามีม็อบที่จำนวนกี่คน เนื่องจากแต่ละสื่อให้ตัวเลขออกมาต่างกันอย่างมาก ปรากฏว่ามีคนพยายามจุดตำแหน่งใบหน้าของแต่ละคนแล้วนั่งนับทั้งภาพจนได้คำตอบว่าไม่มีทางต่ำไปกว่าเลขที่เขานับอย่างแน่นอน
ข้อเท็จจริงเป็นอะไรที่ง่ายตามชื่อของมัน คือเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าจริงหรือไม่จริง ขณะที่เราบอกไม่ได้ว่ามีผู้ร่วมชุมนุมครั้งหนึ่งจำนวน 2923 คนอะไรอย่างนั้น แต่เราบอกสามารถหาข้อมูลที่บอกได้อย่างชัดเจนเช่น ผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ต่างกว่า 1000 โดยการนับจำนวนในภาพ
นอกจากนี้ข้อมูลอื่นๆ จำนวนมากที่เราอาจจะบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นข้อเท็จจริง เช่นงบประมาณในโครงการต่างๆ เช่นการประมูล เรื่องพวกนี้เว็บของทางราชการเองก็มักจะมีเสมอๆ แต่ยากที่จะเข้าถึงได้ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เราอาจจะยกตัวเลขจากเอกสารหนาๆ ขึ้นมาเป็นข้อเท็จจริงที่เราสนใจเช่น ตัวเลขเครือข่ายของ CAT ล่มถึง 64 ชั่วโมงในปี 2004 นั้นได้มาจากรายงานของ กทช. หนาถึงสองเล่มใหญ่ๆ
ปัญหาต่อมาคือเรื่องของความน่าเช่ือถือของข้อมูล เราต้องบอกได้ว่าข้อมูลใดน่าเชื่อถือเพียงใด ในกรณีเช่นแหล่งข้อมูลเป็นเว็บนั้น เราต้องบอกได้ว่า ณ เวลาที่เราอ้างอิงถึงข้อมูลนั้นๆ ข้อมูลนั้นต้องเป็นไปตามที่เราอ้างจริง และหากมีการแก้ไขในภายหลังเราต้องบอกได้อย่างชัดเจนว่าข้อมูลนั้นมีการแก้ไข
ในกรณีเช่นนี้เราอาจจะสร้างซอฟต์แวร์ตรวจสอบ โดยให้ผู้ที่สนใจลงซอฟต์แวร์ดังกล่าวในเว็บของตน เมื่อมีการอ้างถึงเว็บใดๆ ในโครงการ Thai Fact จะมีการแจ้งไปยังผู้ตรวจสอบทั้งหมด ซอฟต์แวร์ตรวจสอบจะสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ดาวน์โหลดเว็บดังกล่าวมาเก็บไว้ในเว็บของตน หรือเพียงแค่คำนวณค่า Check Sum เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในภายหลัง จะมีผู้รู้เห็นเป็นจำนวนมาก