เด็กคอมถามปัญหาคอม

เห็น [@ploysics บ่นไว้ในบล็อก](http://www.ploysics.com/when-you-in-com-dept/) เลยเขียนมั่ง

เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ มันไม่มีใครรู้ไปหมดทุกเรื่อง แม้แต่เด็กคอมเองก็ไม่มีทางรู้ทุกอย่างแก้ทุกปัญหาได้ ดังนั้นไม่แปลกที่จะถามคนอื่น

แต่ในฐานะรุ่นพี่ผมพยายามบอกน้องๆ หลายครั้งว่าให้ถามแบบที่คนตอบ “รู้สึกได้” ว่าเราคือเด็กคอม… ซึ่งแน่นอนว่าไม่น่าเป็นคำถามว่า

> นี่ๆ เครื่องเรามันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ทำอะไรก็ไม่ได้เลย ไม่รู้มันเป็นเมื่อใหร่ มันขึ้นอะไรแปลกๆ มาก็ไม่รู้ แล้วเราก็กดๆ ไปอ่ะ กดอะไรไปมั่งก็ไม่รู้ แล้วมันจะเสียมั๊ย

ทั้งประโยคเป็นคำว่า “ไม่รู้” ไปสักสิบแปดรอบ… (แล้วกูจะรู้มั๊ย…)

แนวทางหลักในการขอความช่วยเหลือ

– ตั้งสติ จะพูดอะไรนึกไว้ด้วยว่าคนตอบเขาไม่มีปัญหา เราเป็นคนมีปัญหา เราต้องอธิบายปัญหาให้เขาเข้าใจ
– พูดให้ชัด อะไรไม่ทำงาน “เข้าเน็ตไม่ได้”, “พิมพ์งานไม่ออก”, “เปิดโปรแกรมไม่ขึ้น” ฯลฯ
– บอกอาการอย่างชัดเจน หน้าจอขึ้นอะไรมา Error Code หมายเลขอะไร อ่าน__ทุกๆ__ Dialog ที่แสดงขึ้นมา
– ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนเสมอ กูเกิลมี ปัญหาส่วนมากเอา Error Code โยนใส่กูเกิลก็ได้คำตอบแล้ว ทำเองมันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน
– อย่าขี้เกียจ อย่าให้คนอื่นทำให้ถ้าไม่จำเป็น ขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่แรงงาน พยายามถามเพื่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะได้เรียนรู้ว่าเพื่อนแก้อะไรไป ตอนเราทำงานแล้วไม่มีใครมาช่วยเราเหมือนตอนนี้ ความสามารถพื้นฐานเราต้องมีลงวินโดวส์เองได้แล้ว เรียนคอมกันแล้ว ถ้ายังไม่มี วันนี้ไรต์ข้อมูลลงแผ่นซีดีแล้วล้างเครื่องเองเลย ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา
– สุดท้ายแล้วเรียนรู้จากปัญหา ทำความเข้าใจกับมัน ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองไม่ติดปัญหาที่เดิมอีกต่อไป

 

Science vs. Art

ตามประสา [geek ตัวพ่อ](http://lewcpe.com/blog/archives/746/geek-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD/) ยามว่างเราก็อ่านนิตยสาร [Communication of the ACM](http://cacm.acm.org/) แทนนิตยสารดารา

บทความที่คนพูดถึงกันมากในช่วงนี้คือ Is Computer Science Science? เนื้อหาข้างในสนใจไปหาอ่านกันเอาเอง แต่ประเด็นที่ผมสนคือความต่างระหว่างศิลปะ และวิทยาศาสตร เทียบกันเป็นข้อๆ

– หลักการ vs. ความชำนาญ
– การทำซ้ำได้ vs. ประสิทธิภาพการทำงาน
– คำอธิบาย vs. การกระทำ
– การค้นพบ vs. การประดิษฐ์
– วิเคราะห์ vs. สังเคราะห์
– การแยกศึกษา vs. การก่อสร้าง

น่าสนใจมากว่าสังคมไทยที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างโน้นอย่างนี้ พอเอาเข้าจริงแล้ว เราก็มักจะอ้างว่า “มันดีอยู่แล้ว”????

 

เหตุผลล้านแปด…

เรื่องน่าสนใจมากในประเด็นของพฤติกรรมมนุษย์คือเรามีเหตุผลอะไร ที่จะทำอะไรและไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่งกัน?

ผมไม่เชื่อว่าพฤติกรรมนั้นสามารถอธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆ สั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง ความหลากหลายมันมีมากเกินกว่าที่เราจะบอกได้ว่าใครทำอะไรเพราะอะไร เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าคนชอบกินก๋วยเตี๋ยวจะกินอะไรในมื้อต่อไป เราไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุผลที่เขากินอะไรในมื้อต่อไปเป็นผลมาจากเหตุอะไร

ผมเกลียดคำพูดประเภทเชิงวิเคราะห์ที่ยืนยันชัดเจนว่าคนอื่นทำอะไรเพราะอะไรประหนึ่งไปนั่งอยู่กลางใจผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือการไปบอกว่าถ้ามีเหตุอะไรแล้วคนอื่นจะทำอะไร ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว แม้แต่เจ้าตัวเองก็ยังไม่น่าจะบอกได้ชัดเจนอย่างนั้น

แน่นอนว่าผมเองก็มีพลาดทำอย่างนั้นเองเหมือนกัน

หลังๆ นี้เราเริ่มเหตุข้อความแบบ “ถ้า [ใคร] ทำ [อะไร] แล้ว [ใครอีกคน] ก็จะ [ทำอะไรอีกอย่าง]” ข้อความเหล่านี้เริ่มแสดงความอวดรู้ อวดดีในชุมชนกันมากขึ้นเรื่อย โดยไม่มีเหตุอื่นๆ ในเชิงวิชาการใดๆ มารองรับ

ทำไมผมถึงเกลียดคำพูดแบบนี้

– มันไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะพูด สุดท้ายเมื่อมันไม่เป็นจริง เราก็อ้างหาเหตุผลใหม่ได้อยู่ดี
– คำพูดแบบนี้มักเป็นคำในเชิงการดูถูกคนอื่น มันไม่เปิดโอกาสให้ใครแก้ตัว เพราะเหตุมันยังไม่เกิดขึ้น

การคาดการณ์แบบเดาสุ่มนี้ต่างจากการ ทำนายตามหลักวิชาการ ที่มักมีข้อมูลประกอบ เมื่อเหตุผลนั้นไม่เป็นจริง คนที่รับฟังไปจากเราจะเริ่มตั้งคำถามว่าการให้เหตุผลของเราดีพอหรือไม่ และต่อให้เหตุนั้นไม่เกิด การโต้แย้งก็ยังเกิดขึ้นได้จากการให้เหตุผลในข้อมูลของเราเอง

 

Cost of Participation

เรื่องหนึ่งที่บ้านเรามีปัญหาทั้งในเชิงวิชาการและอุตสาหกรรมคือเรื่องของการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

ประเด็นเช่นนี้ผมเป็นประเด็นที่ผมบ่นๆ มาได้หลายปีแล้ว และเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง เช่นงาน ECTI-CON ที่ผมช่วยโปรโมทใน Blognone ตอนนี้เอง

ปัญหาอย่างหนึ่งของงานที่สร้างความแลกเปลี่ยนอย่างนี้คือการที่เราต้องการพื้นที่เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น พร้อมๆ กับค่าใช้จ่ายในการเข้าแลกเปลี่ยนที่ต่ำลง

เพราะเราไม่ได้พูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่มีเงินถุงเงินถังส่งพนักงานไปร่วมงานประชุมวิชาการ หรือเข้าร่วมงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ แต่เรากำลังพูดถึงนักศึกษามือดีที่มีไอเดียแต่ไม่สามารถทำตลาดสินค้าของตัวเองได้ หรือบริษัทขนาดเล็กๆ ที่ทำสินค้าเฉพาะทางและไม่มีกำลังในการโปรโมทมากมายนัก

อย่าว่าแต่ค่าเข้าร่วมไม่กี่พันบาท คนกลุ่มนี้นั้นหลายๆ ครั้งแล้วแม้แต่งานสัมมนาฟรีก็ไม่สามารถไปเข้าร่วมได้เนื่องจากไม่พร้อมที่จะให้พนักงานหยุดงานไป…

เราต้องการระบบใหม่ที่ราคาถูกลง การพบกันต่อหน้าที่มีค่าใช้จ่ายต่ำมากๆ จนใกล้ศูนย์ วิธีการที่คนเหล่านี้จะแสดงความ “เจ๋ง” ของตัวเองออกมาโดยหยุดงานไม่เกินครึ่งวัน ทำอะไรง่ายๆ สั้นๆ แต่สร้างกระแสความสนใจได้หากสินค้านั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง

ไอเดียคร่าวๆ ที่ผมกำลังหาทางดันๆ อยู่ตอนนี้อย่าง

– BarCamp วิชาการ ขณะที่ BarCamp ของไทยตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากไปแล้ว ผมกำลังคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะเอากระบวนการแบบ BarCamp มาใช้แทนงานประชุมวิชาการต่างๆ การพูดเป็นการพูดง่ายๆ สั้นๆ แต่น่าสนใจ ค่าใช้จ่ายงานที่ต่ำๆ
– Blognone Project ตอนหลังๆ นี้เริ่มเงียบๆ ไป เราคงต้องพยายามดันมันขึ้นมากันอีกครั้ง

ปล. ช่วงนี้กำลังเขียน Paper อย่างบ้าเลือด ผมหายตัวไปสักพักนะครับ