Reverse Globalization

ภาวะน้ำมันแพงในช่วงหลังๆ มานี้สร้างภาวะใหม่ให้กับโลกกันอย่างช้าๆ โดยที่หลายๆ คนไม่รู้ตัว คือการถดถอยของกระแสโลกาภิวัตน์ เนื่องจากราคาน้ำมันที่กำลังแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุตสาหกรรมหลายๆ อย่างที่มีสัดส่วนค่าขนส่งต่อราคาค่อนข้างสูงไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้อีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไหลกลับของอุตสาหกรรมนั้นๆ ไปยังประเทศที่เจริญแล้วอย่างยุโรป หรือสหรัฐฯ

อุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบแน่ๆ คืออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ที่บ้านเรามีมูลค่าสูงพอสมควรเสียด้วย ผมไม่แน่ใจว่าเราเตรียมการอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่นี้ เพราะคำถามมันเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเราถามกันว่าทำอย่างไรเขาจึงไม่ไปซื้อของจากเวียดนาม, จีน หรือประเทศใน SE Asia แต่คำถามใหม่กลายเป็นว่าทำอย่างไรเขาจึงจะมาซื้อ เพราะปรกติแล้วเขาจะทำใช้เอง

สำหรับโลกไอทีเองนั้น คงไม่กระทบเท่าใหร่นัก เนื่องจากค่าขนส่ง “บิต” นั้นต่ำมากจนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากค่าน้ำมัน

น่าสนใจมากว่าถ้าสถานะการณ์ยังเดินหน้าไปทางนี้ต่อไป โลกของเราจะเป็นอย่างไรกัน เราจะเห็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ประมง, ฯลฯ ไหลกลับไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง ถึงตอนนี้คนของเราจะทำอย่างไร?

ยังคิดไม่ออก จดเก็บไว้ก่อน

 

Monoculture

วันก่อนไปเรียน Knowledge Management กับ อ.ยืนมาในฐานะ Guest Speaker อาจารย์พูดถึงหลายเรื่องมากๆ แต่ประเด็นหนึ่งที่ติดใจคือเรื่องของ Monoculture[^1] ที่ อ.ระบุว่าโลกกำลังพบกับกระแสของวัฒนธรรมที่เชี่ยวกราก และหลอมรวมเอาวัฒนธรรมทั้งโลกเข้าเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน

ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้ตั้งหลายวันแล้วแต่มาเจอกับ[ประเด็นภูฏานใน Blognone][bn] เสียก่อน เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจพอที่จะเขียนเป็นเรื่องเดียวกัน

ความขัดแย้งอย่างหนึ่งคือสังคมมนุษย์แทบทั้งโลกนั้นต้องการความเจริญ เราคงไม่เจอสังคมไหนที่ไม่อยากให้ตัวเลขที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่เช่น อายุขัยเฉลี่ย, ความทั่วถึงของสาธารนูปโภค, รายได้ต่อหัว ฯลฯ ดีขึ้นตามกาลเวลา แต่เมื่อก่อนเวลาเราสร้างเขื่อน หรือต่อสายไฟนั้น ยังไม่เคยมียุคไหนที่เราต้องเสี่ยงกับภาวะสูญเสีย “ความเป็นไทย” มากเท่าในยุคนี้

เพราะความเจริญในยุคนี้คือการสื่อสาร

มันไม่แปลกอะไรที่เราอยากรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราให้คงอยู่นานเท่านาน แต่เมื่อชนรุ่นหลังของเราเติบโตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมที่กำลังได้รับความนิยมในอีกซีกโลก ไม่ว่าจะเป็น Cosplay, iPod, หรือ Netbook เราอาจจะพบว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมบางอย่างของเรากำลังอยู่ในภาวะอันตราย

สิ่งที่เราต้องการคือความเจริญโดยไม่ต้องถูกบุกรุกทางวัฒนธรรม (อย่างน้อยๆ ก็ในความรู้สึกของเรา) คำถามใหม่คือ มันเป็นไปได้หรือ มันเป็นไปได้หรือที่เราจะรับเอางานวิจัยใน IEEE Xplore โดยไม่ได้รับวัฒนธรรมแฮมเบอร์เกอร์, หรือเราจะไปเรียนรู้อาซิโมโดยไม่เอาการ์ตูนญี่ปุ่น

ผมมองว่าภูฏานเองกำลังตั้งคำถามเช่นนี้ และพยายามบอกว่ามัน “ทำได้”

ขณะที่เรากำลังมองภูฏานด้วยความทึ่งในความ “บริสุทธิ์” ของวัฒนธรรม ผมกลับมองว่าด้วยช่องทางการเข้าถึงของวัฒนธรรมภายนอกที่ยังไม่มากนัก เช่นการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงระดับไม่กี่หมื่นคน ปริมาณการเรียนต่อต่างประเทศที่ไม่สูงมากนัก ความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรมของภูฏานนั่นก็เป็นแค่ภาวะที่วัฒนธรรมภายนอก “ยัง” บุกไปไม่ถึงเท่านั้นเอง

แต่ด้วยภาวะที่ประเทศต้องนำเข้ากระดาษทิชชู่ และส่งนักเรียนทุนมาเรียนเมืองไทย ภูฏานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเปิดรับเอาความเจริญจากภายนอกเข้าประเทศให้มากที่สุด ด้วยภาวะเช่นนี้สร้างภาพให้เราเห็นว่าความเจริญที่เกิดขึ้นไม่ได้ไปกระทบกับวัฒนธรรมของเขาในระดับเดียวกับบ้านเรา

ผมตั้งคำถามว่าภาวะเช่นนี้ของภูฏานเป็นภาวะที่ยั่งยืนแน่หรือ ภาพคนอยู่ในไร่นาอย่างสงบและเรียบง่าย จะยังคงอยู่โดยที่ตัวเลขความเจริญทางเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นไปดังที่หวัง

ถ้าทำได้คงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง และฉีกตำราที่พูดถึง Globalization ไปหลายเล่ม

อีกสัก 25-50 ปีคงรู้กัน

[^1]: [Monoculture][wp] จริงๆ แล้วใช้กันในประเด็นของกสิกรรม เป็นการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าระบบนิเวศจะอ่อนแอลงมากเพราะการเกษตรสมัยใหม่ที่ขาดความหลากหลาย ระบบรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ก็ใช้คำเดียวกับบอกถึงความอันตรายเมื่อมีการใช้ระบบที่เหมือนๆ กันจำนวนมากๆ ในบริษัท อย่างม.เกษตรก็เคยโดน Blaster ที่วิ่งไปมาบนเครื่องวินโดวส์ใน ม. แล้วเอาออกให้หมดไปยากมาก

[wp]: http://en.wikipedia.org/wiki/Monoculture
[bn]: http://www.blognone.com/node/8225#comment-57196