ประท้วง คมช.

สื่อไทยเป็นอะไรกันไปหมดแล้ว มองไม่เห็นความสำคัญในวิชาชีพตัวเองกันแล้วหรือยังไง พวกคุณมีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงให้กับประชาชน แต่หลายปีที่ผ่านมาพวกคุณแสดงตัวตนว่าคุณไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากรักษาความปลอดภัยให้ตัวเอง คงพอกันทีแล้วกับการหวังลมๆ แล้งๆ ที่จะให้พวกคุณเป็นตัวแทนของประชาชน คงถึงเวลาแล้วที่พวกคุณต้องตกงานกับสื่อรูปแบบใหม่ๆ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

พอกันที….

บรรยากาศการเดินขบวนต้านรัฐประหารสนามหลวง-กองทัพบก 21 ม.ค. 50 – Prachathai
เผาชื่อคมช. ประท้วงหน้าทบ.
ครบรอบ 4 เดือนรัฐประหาร เดินขบวนเฉียดพันต้าน เผาชื่อ คมช. รายตัว

 

TOT

วิกฤติโทรศัพท์ตอนนี้แสดงตัว TOT ว่ากร่างระดับชาติ คิดว่าเป็นสมัยก่อนที่ตัวเองผูกขาด เอกชนต้องใต้โต๊ะกันเป็นแสนๆ เพื่อให้ได้โทรศัพท์ซักเบอร์

มาวันนี้ผมอยากจะบอก TOT ครับ ว่าบล็อคเลยครับทั้ง DTAC และ TrueMove อ้อ AIS ไม่เชื่อฟังไม่ยอมบล็อคตามนี่อย่าปล่อยไว้ครับ บล็อคไปด้วยเลย

ไม่รู้คนอื่นๆ เป็นไง แต่เบอร์ที่เป็น 02 ในเครื่องผมนี่ไม่เกิน 10% และผมจำไม่ได้แล้วว่าผมโทรไปหาเบอร์พวกนั้นครั้งสุดท้ายเมื่อใหร่ เพราะฉะนั้นให้กำลังใจครับ ช่วยบล็อคให้หมด จะได้จบเรื่องจบราว (และจบเห่) กันไปซักที

 

Guilty

น้ำมันแพง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างให้เราไปปล้นปั๊มน้ำมัน
แล้วทำไมเราถึงปล้นซอฟต์แวร์โดยอ้างว่ามันแพงล่ะ?

ผมเชื่อว่าเมืองไทยยังไม่พร้อมกับการบังคับใช้ของแท้เต็มร้อยในวันนี้ แต่ที่สำคัญกว่าการใช้หรือไม่ใช้ของเถื่อน คือจิตสำนึกที่ว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด ถ้าเด็กสิบแปดคนนึงใช้ของเถื่อนโดยรับรู้ว่ามันผิด เมื่อเขาเรียนจบแล้วมีงานทำมีรายได้ที่มากพอ เขาก็จะซื้อของถูกกฏหมายเอง และการซื้อนั้นจะสร้างความเคารพในตัวเองว่าเขาเป็นผู้ใช้ของแท้

แต่ถ้าเราสร้างค่านิยมว่าการใช้ของเถื่อนเป็นความชอบธรรม ต่อให้มีเงินเดือนเดืิอนละล้านคนก็ยังไม่ใช้ของแท้อยู่ดี

ที่ลำบากคือจิตสำนึกมันสร้างยากกว่ากว่าเยอะ

 

DRM?

เพิ่งเห็นว่าคุณ Ford Antitrust เอาบล็อกผมไปอ้างตอนเขียนถึงเรื่อง DRM ที่น่าสนใจคือในบล็อกเดียวกันมีการเขียนบทความขนาดยาวที่ค่อนข้างโดนใจ เลยคิดว่าบ่นๆ มาหลายทีแล้ว น่าเขียนเรื่องนี้ให้ชัดๆ สักที ก่อนอื่นคนอ่านบทความนี้ควรเข้าใจว่า DRM คืออะไรแล้วนะครับ ไม่ขอกล่่าวถึง ถ้าสนใจแล้วหาข้อมูลไม่ได้ ควรไปถามในบอร์ดสาธารณะเช่นเว็บบอร์ดของ Blognone

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเกลียด DRM มาก เพราะมันน่ารำคาญแต่อย่างใดก็ตาม ผมเชื่อว่าผู้ขาย และศิลปินผู้สร้างสรรผลงานมีสิทธิที่จะใช้ DRM ในงานของเขาได้เสมอ การใช้ DRM ในซีดีเพลงซักแผ่นไม่ใช่ความชั่ว มันเป็นสิทธิที่ผู้ขายจะขายสื่อของตนในรูปแบบใดๆ ที่คุณต้องการ ไม่ต่างจากวันนี้ถ้าผมทำเพลงที่โคตรดังขึ้นมาซักเพลง แล้วผมจะบอกว่ามีขายเฉพาะในรูปแบบแผ่นเสียง มันคงไม่ใช่ข้ออ้างว่าก็คุณไม่ทำเพลงเอ็มพีสามออกมาขาย คนทำเอ็มพีสามขายเลยไม่ผิด

การละเมิดลิขสิทธิเป็นความผิดอยู่แล้วไม่ว่ามันจะเข้าท่าแค่ไหนก็ทีเถอะ

แต่สำหรับค่ายเพลงส่วนใหญ่แล้ว การนำ DRM มาใช้ในทุกวันนี้ คือความผิดที่ผู้บริโภคควรเรียกร้องสิทธิของเรากลับคืนมา กรณีเหล่านี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยแผ่นวีซีดีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่มีการใส่ Trojan ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานเต็มพิกัดตลอดเวลาจนไม่สามารถทำงานอย่างอื่นได้ ค่าขนเอาคอมขึ้นแท็กซี่ไปซ่อมที่พันทิบคงเป็นหลายเท่าตัวของค่าแผ่นหนังอยู่มาก ความเสียหายเช่นนี้ชัดเจนจนหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรละเลยที่จะคุ้มครองผู้บริโภคโดยให้ให้เหตุผลว่าผู้กระทำผิดทำไปเพราะต้องการป้องกันตัวเองจากการละเมิดลิขสิทธิ นี่เป็นคนละกรรมกัน (ภาษากฎหมาย)

กรณีต่อมาคือการแอบๆ ใส่โปรแกรม DRM ไว้ตามแผ่นซีดีต่างๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคได้รับรู้อย่างชัดเจนว่าแผ่นซีดีเหล่านั้นจะมีข้อจำกัด ทำให้แผ่นเหล่านั้นไม่สามารถใช้งานได้ในบางกรณี การจำกัดการใช้งานไม่ใช่เรื่องผิด หากมีการระบุอย่างชัดเจน อย่างที่ผมยกตัวอย่างไปว่าถ้าผมจะทำเพลงแล้วอัดใส่แผ่นเสียงขายอย่างเดียว คงชัดเจนว่าข้อมูลจากแผ่นเสียงคงไม่สามารถนำไปฟังในคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง แต่กับแผ่นซีดีนั้นเล่า เครื่องเล่นที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของผมก็ระบุมาตรฐานชัดเจนว่ารองรับมาตรฐาน CD-AUDIO แล้วทำไมผมจึงไม่มีสิทธิในการใช้งานแผ่นซีดีที่ผมซื้อมา

กรณีการแอบๆ ใส่ Jitter เข้าไปในข้อมูลเสียงเพื่อให้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถอ่านได้นั้น เป็นการกระทำที่ชั่วร้ายไม่ต่างจากการใส่โทรจันเข้าไปในวีซีดีแต่อย่างใด เนื่องจากตัวแผ่นเองไม่ทำตามมาตรฐาน Red Book ที่เป็นมาตรฐานการผลิตซีดี ผลที่ได้คือไม่มีใครสามารถบอกได้เลยว่าจะมีเครื่องเล่นใดบ้างที่อ่านแผ่นดังกล่่าวได้หรือไม่อย่างไร การบอกว่าคอมพิวเตอร์อ่านไม่ได้ แต่เครื่องเล่นเพลงทั่วไปอ่านได้นั้นเป็นคำตอบสั่วๆ ของการใช้เทคโนโลยีอย่างไร้ความรับผิดชอบ เพราะข้อเท็จจริงคือเครื่องเล่นเพลงหลายรุ่นในท้องตลาดไม่สามารถอ่านแผ่นเหล่านี้ได้ ในทางกลับกัน เครื่องอ่านซีดีที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์จำนวนมากกลับสามารถอ่านแผ่นเหล่านั้นได้อย่างไร้ปัญหา

อย่างไรก็ตามแม้การใส่ Jitter เข้าไปในข้อมูลเสียงนั้นจะเป็นความน่าเกลียดทางวิศวกรรม และการตลาดที่ย่ำแย่ แต่ผมยังคงเชื่อว่าศิลปินและผู้ผลิตสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ โดยระบุข้อจำกัดให้กับผู้บริโภคอย่างชัดเจน ประการแรกเลยคือต้องถอดเครื่องหมาย CD-AUDIO ออกจากหน้าแผ่น พร้อมกับต้องสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นเพื่อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้ขายว่ามีเครื่องเล่นใดบ้างที่รับรองว่าสามารถใช้งานแผ่นเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง กรณีเช่นนี้หากการคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราเข้มแข็งพอก็น่าจะหมายถึงการแนบเอกสารไว้นอกกล่องซีดีว่าแผ่นที่กำลังจะซื้อนั้นสามารถใช้ได้กับเครื่องเล่นยี่ห้อใด รุ่นใดบ้าง หากเครื่องเล่นของผู้บริโภคไม่อยู่ในรายการ ผู้บริโภคจะได้สามารถเลือกไม่ซื้อแผ่นดังกล่าวได้โดยไม่ต้องมีปัญหาภายหลัง แน่นอนว่าการกระทำเช่นนั้นกระทบกับยอดขาย แต่มันเป็นทางเลือกของผู้ผลิตเองที่จะเลือกเดินทางนั้น

แต่ในฐานะอดีตลูกค้าของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ (ที่ซื้อแต่แผ่นอินดี้แล้วในช่วงหลัง) ผมสงสัยอยู่สองอย่างคือ ฝ่ายเทคนิคที่นำเทคโนโลยีพวกนี้มาใช้งาน เชื่ออย่างบริสุทธิใจจริงๆ น่ะหรือว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มันจะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิลงไปได้ กับอีกประการคือบริษัทเหล่านี้ไม่มีฝ่ายการตลาดที่ศึกษาตลาดมาดีพอว่าในตลาดความบันเทิงนั้น คือพึงพอใจของลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่งเลยหรือ?

น่าสงสัย…