Wow Index

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าหลายๆ บริษัททำได้ไม่ดีเท่าแอปเปิลคือเรื่องของความตื่นเต้นเวลาเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ

สินค้าของแอปเปิลไม่ใช่สินค้าที่ดีที่สุดในโลก OSX ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการสำหรับทุกคน, iPod สำหรับผมแล้วเป็นอุปกรณ์น่ารำคาญระดับโลก

แต่ความตื่นเต้นมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น

ผมมองว่าความตื่นเต้นของแอปเปิลอยู่ที่ความลงตัวของ ความสามารถ, ราคา, ความสวยงาม, และช่วงเวลา

มันเป็นความลงตัวไม่ใช่ความเหนือกว่า

ThinkPad X300 เป็นนวัตกรรมที่เหนือชั้นมาก ทุกคนที่ได้อ่านสเปคคงทึ่งกับมันจนกระทั่งเห็นป้ายราคา แล้วเสียงว๊าวก็เงียบลง

เช่นเดียวกับ HP Mini-Note คีย์บอร์ดขนาด 92% เรียกร้องให้ทุกคนอยากใช้งานมันแทนที่ Netbook ที่เล็กเกินไป แล้วราคาสามหมื่นหกก็หยุดทุกอย่าง

Android กำลังทำได้ไม่ดีนักในเรื่องของเวลา ความตื่นเต้นกับนวัตกรรมล่าสุดนี้กำลังจะหมดไป เมื่อเวลาอันยาวนานสร้างความได้เปรียบให้กับ iPhone ไปแล้วสองช่วงตัว

การคิดแบบโลกธุรกิจแบบเดิมๆ นั้นเรามักจะเห็นสินค้าใหม่ๆ ตั้งราคาแพงสุดกู่ เพื่อเรียกเอาเงินจากคนอยากใช้ก่อน แล้วค่อยๆ ลดราคาเพื่อเก็บตลาดล่างอีกที สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีทางเลือกสองทางระหว่างเล่นของตกรุ่น กับจ่ายราคามหาโหด

ไม่ “ว๊าว” ทั้งสองทาง….

การลดราคาไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ผมว่ามันจะดีกว่าถ้าเราจับตลาดใหญ่ใน “ทันที” ที่สินค้าเปิดตัว ให้ความสามารถที่เหนือชั้น, ความสวยงามที่พิเศษกว่า, และราคาที่ (พอจะ) จับต้องได้

ทำให้ลงตัวได้ ที่เหลือก็แค่ผลิตให้ทันขายแล้ว..

 

ไล่ออก

เมืองไทยเคยมีประเด็นของการรับสมัคร Call Center ที่มีการบอกไม่รับพนักงานกันกลางอากาศ เป็นคดีกันไปยิ่งใหญ่พอสมควร (น่าสมเพศสื่อกระแสหลักที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้กันเลย)

แต่พอดีอ่าน Havard Business แล้วมีเรื่องแปลกกว่านั้น โดยบทความเล่าถึงบริษัท Zappos ที่รับพนักงานแล้วอบรมกันอย่างเข้มข้น พร้อมกับให้ทำงานก่อนอีกหนึ่งสัปดาห์ พอถึงเวลาแล้ว

ก็ออกมาถามว่าจะมีใครลาออกบ้าง!!!!

ไม่บอกเปล่า บอกกันตรงๆ ว่าเดือนที่ผ่านมาจะได้รับเงินเดือนครบทุกวันไม่มีขาด แถมเงินอีก 1000 ดอลลาร์ !!!!!!!

แนวคิดของ Zappos ไม่ใช่การคัดคนออกตามอำเภอใจ แต่เป็นแนวคิดที่พยายามถามส่วนลึกในใจของพนักงานว่ายินดีปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรหรือไม่ ถ้าอึดอัดแล้ว และคิดว่าอาจจะทำได้ไม่นาน การรับข้อเสนอน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามากอยู่แล้ว

Zappos เริ่มข้อเสนอนี้ครั้งแรกด้วยเงิน 100 ดอลลาร์ และตอนนี้อยู่ที่ 1000 ดอลลาร์ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดองค์กรที่กำลังขยาย และต้องการรักษาวัฒนธรรมองค์กร

ที่น่าสนใจมากคือด้วยแนวคิดแบบนี้ ไม่มีอะไรรับประกันเลยว่า Zappos จะได้คนเก่งที่สุด เพราะบริษัทไม่ใช่คนเลือกให้ข้อเสนอกับใคร แต่พนักงานทุกคนต่างหากที่เป็นคนเลือกว่าจะรับข้อเสนอหรือไม่ และดูเหมือน Zappos ยินดีจะเสียคนเก่งๆ ไปหากเขาอึดอัดกับวัฒนธรรมองค์กร

น่าสนใจมากว่าบ้านเราคงหาแนวคิดแบบนี้ยาก ที่ไม่ว่าจะไม่อยากทำแค่ไหน ก็ทำๆ ไปเพราะมันมั่นคงดี โดยเฉพาะในหมู่ราชการแล้ว โรคประมาณนี้คงเป็นหนักกว่าปรกติหลายเท่าตัว

มีที่ไหนถ้าทำอะไรอย่างนี้ลองมาเล่าให้ฟังกันมั่งก็ดีครับ

 

Change

นั่งอ่านหนังสือ Marketing Management ของ Philip Kothler แล้วเจอหมวดที่น่าสนใจ ในเรื่องของกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยเนื้อหาส่วนนี้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดสามแบบใหญ่ๆ คือ

  1. กระแส (Fads) เป็นแค่สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไว้อย่างถาวร
  2. แนวโน้ม (Trends) คือความเปลี่ยนแปลงที่คงอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไว้เบื้องหลัง
  3. คลื่นยักษ์ (Megatrends) ความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ และสร้างผลกระทบที่หนักหน่วงจนเกือบถาวร

ข่าวร้ายสำหรับชาวไอทีคือเรามีความเปลี่ยนแปลงให้ดูกันทุกวัน จนต้องนั่งเดากันไม่ถูกว่าอะไรจะมาอะไรจะไป และยิ่งกว่านั้นความเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งหมดเป็นได้แค่กระแส แนวคิดจำนวนมากตายหายไปกับผู้สร้างมันโดยไม่เคยได้รับความนิยม (ยกเว้นช่วงเปิดตัวสั้นๆ) อย่างจริงจัง

แต่ถ้าใครจับกระแส หรือคลื่นยักษ์ได้เล่า ในโลกไอทีแล้วนั่นคือผลประโยชน์มหาศาลที่ยากจะมีใครเทียบได้ ลองมาไล่เรียงกระแสสำคัญๆ ที่เราเห็นในช่วงหลายปีมานี้ดู

  1. บล็อก
  2. Wiki อันนี้บ้านเราแทบจะเรียกว่าดับสนิท
  3. Always On Connection ตั้งแต่ ADSL, Wi-Fi ไปจนถึง GPRS แบบรายเดือน
  4. MP3 นี่น่าจะเป็น Megatrends

จริงๆ แล้วยังมีเทคโนโลยีอีกหลายๆ ตัวมากๆ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือเราจะรู่ได้อย่างไรว่าตัวต่อไปมันคืออะไรกัน

เราอาจจะใช้มันอยู่แต่คิดว่ามันไม่เจ๋งเท่าใหร่ก็เป็นได้ จริงไหม

 

Business 2.0

เพิ่งไปอัพแรมมาเป็น 2GB ให้ Beryl มันสูบเล่นๆ นอกจากความลื่นที่ใฝ่หามานานแล้ว ยังได้ไปใช้บริการร้านที่เห็นกันมานานคือ MemoryToday ซักที หลังจากอ่านเจอแต่ในเน็ตมานาน

เรื่องที่น่าสนใจมากคือร้านที่ว่านี้เค้าขายแต่หน่วยความจำอย่างเดียวโดยไม่สนใจขายอย่างอื่น ทำให้ Process การเลือกซื้อง่ายมาก

ผมเดินเข้าไปในร้านแล้วก็บอกว่าแรม 2GB คนขายก็แนะนำรุ่นที่ถูกที่สุดให้ (สงสัยจะสต็อกไว้เยอะ ต้องรีบระบาย..) พอตกลงซื้อ ก้เอาผ้าปู วางเครื่อง ใส่แรม แล้วลองได้เลย ผมลองอยู่สิบนาทีก็โอเค แล้วจ่ายเงิน

น่าสนใจมากว่าธุรกิจยุคต่อๆ ไปคงไปในแนวที่ร้านที่ทำมากขึ้นเรื่อยๆ คือเจาะเป้าหมายเฉพาะกลุ่มที่ทำเงินแน่ๆ แล้ว maintain ความรู้ให้กับหน่วยงานไว้อย่างดีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

การทำธุรกิจอย่างนี้มีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าลูกค้าจะได้รับความพอใจสูง ทำราคาแข่งขันได้ง่าย เพราะสต็อกของน้อยกว่า ฯลฯ  แต่ข้อเสียคือธุรกิจมีความเสี่ยงค่อยข้างสูงจากปัจจัยภายนอก เพราะร้านแนวๆ นี้ที่อยู่ได้เพราะความงี่เง่าของผู้จำหน่ายโน้ตบุ๊กบ้านเรา ที่เพิ่มแรมกันกิ๊กละหกพัน ถ้าอนาคตร้านขายโน้ตบุ๊กคิดค่าเพิ่มแรมพอๆ กับร้านข้างนอก (แพงกว่านิดหน่อยก็ได้ ลูกค้ากลัประกัน void อยู่แล้ว) ร้านอย่างนี้ก็จะอยู่ยาก

นอกจากแรมแล้วมันน่าจะมีอย่างอื่นที่เปิดเป็นธุรกิจได้เหมือนกันนะ…