Virtual Economics: ทางออกของทุนนิยม?

ผมเขียนเรื่องนี้ต่อจากตอนที่แล้วในการ[แสดงความเห็นทางด้านเศรษฐกิจ](http://lewcpe.com/blog/archives/779/my-opinions-on-economics/) ซึ่งในเวลาใกล้ๆ กันคุณ [bow_der_kleine](http://www.biolawcom.de/profile/1) ซึ่งเขียนบล็อกแบบนานๆ ทีเหมือนผมก็[เขียนเรื่องใกล้ๆ กัน](http://www.biolawcom.de/blog/874/Produce-for-Whom.html)ขึ้นมา ผมเลยเขียนบล็อกนี้โดยตั้งใจที่จะต่อจากทั้งสองอัน

จุดที่เลวร้ายที่สุดของทุนนิยมนั้นสำหรับผมแล้ว ไม่ใช่เรื่องของความโลภในตัวมนุษย์ ความโลภนั้นเลวร้ายโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ตรงข้ามกับความเลวร้าย ทุนนิยมกลับดึงบางสิ่งดีๆ ออกมาจากแรงงานที่ได้จากความโลภนั้นได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค หรือวิทยาการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ

ปัญหาสำคัญของระบบทุนนิยมคือ ความโลภที่ว่านั้นมีไม่จำกัด ผมไม่เชื่อในความ “ปากดี” ของใครสักคนที่ไม่เคยจับเงินก้อนใหญ่ๆ ที่พร่ำบอกว่าถ้าตัวเองมีเงินเท่านั้นเท่านี้แล้วจะพอ ผมเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่เคยพอ เหมือนที่อาจารย์ผมสอนเสมอว่า **”Human consumes unlimited resources.”** ผลความเลวร้ายนี้คือการพยายามผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และความต้องการตลาดเพื่อที่จะบริโภคสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นอย่างไม่หยุดยั้งเหมือนกัน

นับแต่ยุคล่าอาณานิคมเป็นต้นมา ระบบทุนนิยมเอาชนะทุกระบบมาได้ด้วยปัจจัยสองอย่างคือทรัพยากรที่มีการนำมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

นึกถึงสมัยบ้านเราตื่นเหมืองแร่ดีบุก กับการเปิดตลาดในจีนทุกวันนี้นะครับ นั่นคงเป็นสองตัวอย่างที่เราเห็นกันได้ชัด

เมื่อมาถึงยุคนี้ปัญหามันเลยเริ่มปะทุออกมา เพราะการนำทรัพยากรมาใช้__เพิ่มขึ้น__จากเดิมทำได้ยาก ตรงข้ามเราพยายามลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงเพราะโลกมีทรัพยากรจำกัด ด้านสังคมมนุษย์เองก็พยายามไม่เพิ่มประชากรกันเพราะคนกำลังล้นโลก เลยมีคำถามว่ากำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้จะผลิตไปขายใครกัน? เพราะขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการผลิตก็ดีขึ้นเรือยๆ จนแทบจะไม่ต้องจ้างคนมาผลิตกันแล้ว

ผมเชื่อว่าทุนนิยมยังไปได้ต่อ ถ้าโลกไม่ถึงกาลอวสานไปซะก่อน (แต่ตอนนี้เองก็ปริ่มๆ ใช้ได้) ด้วยเศรษฐกิจเสมือน

เศรษฐกิจเสมือนคือการผลิตและการขายอะไรบางอย่างที่ไม่มีอยู่จริง ลองนึกถึงการให้ของขวัญกันใน Social Network ต่างๆ ที่มีการซื้อของ__เสมือน__จากเงิน__จริง__ เกิดเงินหมุนเวียน สร้างงานสร้างรายได้ และกำลังสร้างภาษี

เรื่องที่ดีที่สุดของเศรษกิจเสมือนนี้คือมันใช้ทรัพยากรโลก ต่อกำลังการผลิตค่อนข้างต่ำมากๆ ลองนึกถึงไอเทมสักชิ้นในเกมออนไลน์ที่มีการหมุนเวียนไปมา มันอาจจะมีการหมุนเวียนกันสิบชิ้น หรือล้านชิ้นนั้น ไม่ได้กระทบต่อปริมาณคาร์บอนหรือป่าไม้ในโลกต่างกันเท่าใดนัก

ทุนนิยมกำลังหาทางออกของมันเอง ด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในวงการที่ดูจะไม่มีเหตุผลต่อการดำรงค์ชีวิตขึ้นเรื่อย สิ่งที่เราซื้อขายกันกำลังห่างออกไปจากความจำเป็นในการดำรงค์ชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ลองนึกถึงตู้รองเท้าของสาวสักคนที่อาจจะมีสัก 30-50 คู่ ทุกคู่นั้นช่วยสร้างงานให้กับใครสักคนในโลกได้ผลิตรองเท้า ปัญหาคือรองเท้าเหล่านั้นต้องการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นพลาสติก เหล็ก และยาง มาใช้ในการผลิต ตลอดจนการใช้พลังงานในการผลิต การขนส่ง และการใช้ที่ดินในการจัดเก็บคงคลัง การแสดงสินค้า ฯลฯ ยิ่งเราซื้อมาก โลกของเราก็จะยิ่งบอบช้ำ แต่หากเป็นการซื้อรองเท้าใน Second Life การรบกวนโลกจะต่ำลงจนใกล้ศูนย์ ในโลกเสมือน เราอาจจะซื้อดอกไม้ให้สาวได้นับร้อยช่อ (ให้กี่คนนี่อีกเรื่อง) โดยที่ไม่มีการตัดต้นไม้จริงเลย สาวๆ จะซื้อชุดใหม่ได้ไม่ยั้ง

การผลิตกำลังจะกลายเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ มนุษย์เรากำลังจะก้าวไปทำอะไรที่เครื่องจักรทำไม่ได้ นั่นคือจินตนาการ ในวันหนึ่งอาชีพที่เรารู้จักอาจจะมีแต่ศิลปิน, นักออกแบบ, นักวิทยาศาสตร์ และอาชีพที่ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ

ข่าวดีสองเรื่องคือเมื่อเศรษฐกิจกลายเป็นเศรษฐกิจแบบเสมือนมากขึ้นเรื่อยๆ การบริโภคของแต่ละคนจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง และประชากรเราสามารถน้อยลงได้โดยไม่กระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะในโลกเสมือน เราบริโภคได้ไม่จำกัด

ข่าวร้ายคือ เมื่อเราอิงกับวัตถุเสมือนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว วันหนึ่ง…

เราก็จะไปอยู่กันใน The Matrix