น้ำเงินแท้

TL;DR น้ำเงินแท้คือ Unbroken ทั้งเล่มใส่เนื้อหากบฎบวรเดช จบ;

ผมอ่านหนังสือของวินทร์เล่มแรก เป็นรวมเรื่องสั้นในยุคสมุดปกดำกับใบไม้สีแดง สมัยที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์ดอกหญ้าและก็อ่านเรื่อยมาจนกระทั่งมาเจอประชาธิปไตยบนเส้นขนานหลายปีต่อมา มันเปิดโลกให้กับผมว่าการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลดิบแห้งๆ ชวนให้คนเบือนหน้าหนีแต่ต้องอ่านเพราะจะสอบแบบในหนังสือเรียน แต่มันร้อยเรียงแสดงความเกี่ยวเนื่องกันไป และพาเราย้อนกลับไปสู่ที่มาของเราได้อย่างเป็นระบบ

หลังจากนั้นผมก็อ่านหนังสือของวินทร์เรื่อยมาทุกเล่ม ทุกฟี จนกระทั่งเมื่อสองสามปีก่อนพบว่าหนังสืองานหนังสือหลังๆ (ที่ยังซื้อทุกเล่มอยู่) ไม่ได้อ่านอีกต่อไปเลยเลิกซื้อไปโดยปริยาย

น้ำเงินแท้เป็นนิยายประวัติศาสตร์เล่มที่สามที่ผมได้ยินข่าวก็ตั้งใจว่าต้องอ่านในทันที ไม่ว่าเสียงวิจารณ์จะเป็นอย่างไร ยังไงซะก็ต้องอ่านให้ครบชุดหลังจากอ่านปีกแดงเล่มที่สองมานานแล้ว

น้ำเงินแท้ยังคงผลิตซ้ำแนวคิดแบบที่เราเห็นได้บ่อยในทุกวันนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นเร็วเกินไป แต่ในแง่หนึ่งมันก็ยอมรับเต็มที่ว่าการเปลี่ยนแปลง 2475 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เสร็จในตัว แต่เป็นการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง มีความพยายามเปลี่ยนแปลงไปมาอีกหลายครั้ง และความพยายามแต่ละครั้งก็สามารถหาจุดย้อนกลับ การตกลงระหว่างกลุ่มได้ในบางระดับ และบางครั้งบางฝ่ายก็ถูกกวาดล้างกันไป

มุมมองทางการเมืองในน้ำเงินแท้สำหรับผมจึงยังน่าสนใจ และควรไปหาหนังสือที่แนะนำท้ายเล่มมาอ่านต่อ เช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในชุด

แต่เรื่องน่าเศร้าคือผมเพิ่งอ่าน Unbroken จบก่อนหนังเข้าฉาย และพบว่าการเดินเรื่องของหนังสือกลับคล้ายกันเป็นอย่างมาก มันทำให้ความใหม่ของหนังสือหายไป เนื้อหาเองแม้จะสร้างภาพความเลวร้ายของการกุมขังสมัยนั้นแต่ก็เมื่อมองมาถึงสมัยนี้ความเศร้าดูจะไม่ใช่เรื่องของคนในยุคนั้นที่ถูกกุมขังในรูปแบบที่เลวร้าย เท่ากับว่าในยุคนี้เมื่อผ่านไปเจ็ดสิบปีกลับไม่มีอะไรดีขึ้นมา

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเราเรียกคนใช้กำลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ไม่สำเร็จว่านักโทษการเมือง แต่ยุคนี้เรายืนยันว่าเราไม่มีนักโทษการเมืองอีกแล้ว

 

ศาสนาขัดกัน

เรื่องเลวร้ายเรื่องหนึ่งที่เห็นในช่วงนี้คือการเอาการฆาตกรรมมาเป็นเหตุผลว่าเราต้องเคารพศาสนาไม่หมิ่นต่อกัน ผมมองแล้วกระอักกระอ่วนว่านี่คือการบอกว่าถ้าอนาคตอยากให้คนหยุดพูดเรื่องอะไรก็ต้องฆ่าคน ยิ่งฆ่าเยอะ ยิ่งรุนแรงสะเทือนขวัญ ยิ่งได้ผลว่าสิ่งที่เราเรียกร้องจะสำเร็จ

คนระยำอยากฆ่าคนอยู่ศาสนาไหน ความเชื่อไหนก็อยากฆ่าคน คำสอนจะบอกแบบไหน จะสอนให้อภ้ยอะไรคนพวกนี้ไม่ฟัง พร้อมต่อยตี

การเรียกร้องให้เคารพศาสนาอย่าไปหมิ่นศาสนาเป็นเรื่องบ้าบอ ถ้าต้องเคารพไม่หมิ่นศาสนาไปเสียหมดอนาคตเราจะเผยแพร่ความเชื่อความคิดอะไรกันไม่ได้

จุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์เองก็มาจากการ “หมิ่น” ศาสนายิวด้วยการบอกว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า ไบเบิลบันทึกเรื่องราวของชาวคริสต์ที่ถูกบอกว่าหมิ่นศาสนา ถูกตามกวาดล้าง ถูกตามฆ่า

ช่วงนี้เองในสหรัฐฯ แม้แต่การสอนทฤษฎีวิวัฒนาการ ก็เป็นการหมิ่นศาสนาคริสต์สำหรับคนบางกลุ่ม

คนมันหันหน้าไปทางอื่นไม่เป็น เห็นอะไรไม่เข้ากับความเชื่อในแบบที่ตัวเองตีความแล้ว “ทนไม่ไหว” มันไม่ใช่ปัญหาของสังคมภายนอก มันเป็นปัญหาของคนพวกนี้เองที่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้อดทนและจัดการความเห็นที่เข้าหูตัวเองได้อย่างเหมาะสม

คนพวกนี้มีเสรีภาพในการพูด คนไม่พอใจทฤษฎีวิวัฒนาการมีสิทธิด่าได้เท่าที่ต้องการ แต่ก็เท่านั้น ถ้าฆ่าคนก็ต้องเข้าคุก ไม่ใช่มานั่งต้องพิจารณาสิ่งที่คนระยำเรียกร้อง

 

เรียนรู้จาก Uber

ปัญหา Uber เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาอีกจำนวนมากที่กำลังจะเกิดใน Sharing Economy บ้านเราเองยังเพิ่งเกิดอย่างแรกๆ เพราะเรามีความฝังใจกับปัญหาแท็กซี่เป็นพิเศษ แต่ในไม่นานปัญหาซ้ำรอยเดิมๆ จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

ปัญหาของแท็กซี่เดิมเองแยกเป็นสองส่วน คือ โครงสร้างราคา และการควบคุมของรัฐ

โครงสร้างราคาของแท็กซี่เองตายตัวอย่างมาก ตั้งครั้งเดียวใช้กันยาวนานนับสิบปี พอจะปรับแต่ละครั้งกลายเป็นปัญหาการเมืองว่าจะทำให้ค่าครองชีพแพง พอจะปรับก็กระมิดกระเมี้ยนกันไปมา หลายค่าตั้งมาโดยไม่มีหลักอะไร เช่น ถือว่ารถวิ่งช้ากว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นรถติด ซึ่งไร้สาระมาก เพราะรถวิ่ง 10 หรือ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็รถติดทั้งนั้น การที่รัฐมาจินตนาการกฎชุดหนึ่งแล้วบอกว่ามันคือความถูกต้อง ในตลาดจริงเมื่อมันไม่สมเหตุสมผล คนที่รับกรรมคือคนเดินดินที่ต้องใช้แท็กซี่

สิ่งที่เราควรบอกรัฐคือ เลิกยุ่งกับราคา แท็กซี่ไม่ได้ไม่มีการแข่งขัน แต่รัฐเองทำลายการแข่งขันของแท็กซี่ด้วยการล็อกราคาตายตัว แท็กซี่ที่พยายามสร้างรายได้ให้มากที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งยอมรับกับราคาที่รัฐตั้งมาไม่ได้ก็ไม่ยอมรับผู้โดยสารและหาทางทำกำไรสูงสุดจากช่วงเวลาที่ขับรถ

ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการราคาตายตัวแบบเดียวที่รัฐคิดสำเร็จมาให้ Uber มีเกณฑ์ที่ต่างออกไปยังมีคนมีความสุขกับมันมากมาย แม้แต่ Surge Pricing เองจำนวนปัญหาจริงๆ ก็ไม่มากนัก คนไทยเองผมยังแทบไม่ได้ยินปัญหาแรงๆ ออกมา สิ่งที่คนต้องการคือ ราคาและบริการที่คาดหวังได้ ถ้าเขาเรียกรถแล้วจะประมาณได้ว่าถึงจุดหมายในงบประมาณเท่าใด ผู้ให้บริการอาจจะปรับราคาไปบ้าง แต่ถ้าการปรับราคายังทำให้ผู้ใช้คาดเดาได้ ปัญหาก็น้อยลง รัฐเองไม่มีความสามารถจะยืดหยุ่นราคาที่ตัวเองควบคุมไว้ อย่าว่าแต่ช่วงฝนตกรถติดแล้วควรขึ้นราคาให้ น้ำมันขึ้นราคาเป็นปีการตอบสนองก็ยังช้ามาก

การควบคุมของรัฐที่ล้มเหลวเป็นผลที่ตามมาจากการควบคุมเกินความสมเหตุสมผล เมื่อแท็กซี่พากันไม่ยอมรับผู้โดยสารในบางเส้นทาง ผู้คนเบื่อหน่ายกับการร้องเรียนที่ล่าช้า เจ้าหน้าที่เองก็อาจจะโดนร้องเรียนจนงานเต็มมือ สุดท้ายมันกลายเป็นวังวนสู่ความล้มเหลวของการควบคุมภาครัฐ การตามจับกรณียิบย่อยไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคได้บริการที่ดีแต่อย่างใด

Sharing Economy ควรทำให้เราตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วเราจำเป็นต้องให้รัฐทำหน้าที่ควบคุมแบบทุกวันนี้จริงๆ หรือ รัฐเคยสัญญากับเราว่ารถแท็กซี่ควรถูกจดทะเบียนอย่างถูกต้อง คนขับควรมีใบขับขี่พิเศษมีการตรวจอาชญากรรม แต่เอาเข้าจริงรัฐก็มีความสามารถในการตรวจตราจำกัด และไม่ขยายตัวเองออกไปตามปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ผู้ให้บริการ Sharing Economy อย่าง Uber สามารถเก็บประวัติคนขับ ณ เวลาหนึ่งๆ ได้เหมือนที่รัฐเคยสัญญาว่าจะทำ หรือ Airbnb สามารถเก็บรายชื่อผู้เข้าพักบ้านพักได้เหมือนโรงแรมที่เก็บรายชื่อแขกที่มาพัก กระบวนการเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีพอสมควร ที่สำคัญคือดูจะดีกว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ มันก็ควรถึงเวลาที่เราจะบอกรัฐให้วางมือกับงานบางอย่าง

การถอนการกำกับดูแลบางส่วน รัฐอาจให้เอกชนเป็นคนดูแลว่าคนขับตรงกับที่แจ้งหรือไม่ และหากมีเหตุต้องส่งรายระเอียดให้รัฐได้อย่างรวดเร็ว Airbnb อาจจะต้องส่งรายชื่อผู้เข้าพักให้กับรัฐแบบเดียวกับที่โรงแรมส่งให้ รัฐอาจจะแจ้งรายชื่อผู้ให้บริการจับคู่ใน Sharing Economy ว่ามีใครติด blacklist ห้ามให้บริการแทนที่จะลงไปดูแลโดยตรงทั้งหมด บริษัทอย่าง Uber อาจจะต้องส่งชื่อและลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการเช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่ (ที่ถูกต้อง) ทุกวันนี้

กระบวนการถอนการกำกับดูแลออกบางส่วนเกิดขึ้นเสมอ สถานตรวจภาพรถเอกชน, สนามสอบใบขับขี่เอกชน, ธนาคาร, สถาบันการเงิน, เครือข่ายโทรศัพท์ ฯลฯ ล้วนถูกกำกับดูแลในระดับที่สูงกว่า หลายอย่างมีการแข่งขันราคาที่ต่างกัน เทคโนโลยีและการที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นของที่มีอยู่ทั่วไปเปิดให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขึ้นอย่างมหาศาล

และเมื่อมีคนทำได้ดีแล้วก็ควรถึงเวลาที่รัฐจะมองหน้าที่ของตัวเองใหม่ ปรับบทบาทให้มีประสิทธิภาพ

 

เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

ประเด็นการเมืองในช่วงหลัง วนเวียนอยู่กับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของคนกลุ่มต่างๆ กันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ แต่แม้ว่าผมจะเรียกร้องความโปร่งใสภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาผมไม่สบายใจกับกระบวนการเปิดเผยทรัพย์สินของนักการเมืองของไทยนัก เพราะมันละลาบละล้วงความเป็นส่วนตัวในแบบที่ไม่มีขอบเขต ผมดูครั้งล่าสุดมีทั้ง อีเมล, ที่อยู่, เบอร์โทร, บ้านทุกหลัง, มรดกสมบัติเก่า ฯลฯ

ที่น่ากังวลคือเรากำลังทำให้การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเป็นยาวิเศษ ช่วยตรวจสอบการโกงโดยไม่ต้องสนใจความเป็นส่วนตัวใดๆ ของคนมาดำรงค์ตำแหน่ง (เรื่องการมาถูกหรือมาผิดคงต้องแยกออกไป)

กระบวนการจับคนดำรงค์ตำแหน่งทางการเมืองมาแก้ผ้าให้เราเห็นคงเป็นเรื่องสะใจเมื่อฝ่ายที่เราเชียร์ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง แต่เมื่อทุกฝ่ายพากันขยายขอบเขตโดยไม่ดูว่ามันไปละเมิดคนเข้าไปในตำแหน่งแค่ไหน ราคาที่เราต้องจ่ายให้กับความสะใจมันก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

กระบวนการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่ลงรายละเอียดแบบไม่เคารพความเป็นส่วนตัว เป็นอีกอย่างที่ทำให้คนดีๆ ไม่อยากมาทำงานการเมือง และคนที่สะใจกับการเปิดเผยบัญชีเหล่านี้เองล่ะ ก็สั่งคร่ำครวญว่าตัวเองไม่มีตัวเลือก ไม่มีที่ยืน เพราะฝ่ายใดๆ ก็ล้วนไม่ดีพอ

ให้ลงไปทำเองก็ไม่ลง เพราะเปลืองตัว อยากให้คนดีๆ (ที่ไม่ใช่กู) ลงไปแก้ผ้าให้คนอื่นดู

ความโปร่งใสที่ไม่เคารพความเป็นคนไม่เคารพความเป็นส่วนตัวมันไม่ใช่ความโปร่งใส มันคือการกระหายหาเรียลลิตี้โชว์มาดูไปวันๆ