ด้วยการประมวลผลและเซ็นเซอร์

ผมเคยเขียนเรื่อง computation of things ไปแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน คำถามคือในภาพรวมแล้ว การที่อุปกรณ์ไฟฟ้าแทบทุกชิ้นในบ้านของเรามีคอมพิวเตอร์และเซ็นเซอร์จำนวนมากในตัวจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร นอกจากความหรูหราเป็นลูกเล่นเท่านั้น

คำตอบหนึ่งคือประสิทธิภาพพลังงาน

เราเห็นในเครื่องปรับอากาศยุคเก่าที่ประสิทธิภาพเข้าขั้นเลวร้าย เพราะไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากปรับแอร์ให้เย็นเป็นจังหวะ ช่วงหัวค่ำที่เรากำลังเข้านอนเราจึงต้องปรับเครื่องให้อยู่ในระดับเย็นสบาย ก่อนจะพบว่าเมื่อถึงเวลาดึกแล้วห้องกลับเย็นเกินไปทำให้สูญเสียพลังงานไปโดยไม่จำเป็น

เราสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็นเช่นนี้อีกนับไม่ถ้วนในชีวิตประจำวัน เมื่อเราต้องการต้มน้ำเดือดมาชงชาสักแก้วด้วยไมโครเวฟ เราต้องประมาณเวลาเอาเองว่าจะใช้เวลาและความแรงเครื่องเท่าใด ในความเป็นจริงเราไม่เคยว่างมานั่งลดเวลาต้มน้ำลงเพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากตั้งใจวัดก็ทำได้ยากเพราะมีปัจจัยอื่นๆ เช่น อุณหภูมิห้อง หรืออุณหภูมิเริ่มต้นของน้ำเอง

เครื่องปรับอากาศยุคใหม่ล้วนปรับอากาศด้วยการบอกระดับอุณหภูมิห้องที่ต้องการ อนาคตแนวทางบอกความต้องการให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำตามอย่างพอดีน่าจะเป็นแนวทางปกติเมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นล้วนมีคอมพิวเตอร์และเซ็นเซอร์ในตัว

ไมโครเวฟยุคต่อไปอาจจะมีโหมดต้มน้ำ ที่บอกได้พอดีว่าต้องการน้ำเดือดหรือไม่ หรือหากต้องการเดือดแล้วต้องการให้เดือดนานแค่ไหน หากต้องการน้ำร้อนก็สามารถกำหนดอุณหภูมิได้พอดี ตัวเครื่องจะมีเซ็นเซอร์และต้มน้ำไปด้วยกำลังสูง ขณะที่วัดอุณหภูมิของน้ำไปเรื่อยๆ เมื่อได้ระดับที่ต้องการก็หยุดไปทันที

รูปแบบเช่นนี้สามารถขยายออกไปสู่สิ่งรอบตัวเราได้มากมาย หลอดไฟในบ้านอาจจะสามารถปรับแสงได้ และแทนที่เราจะเปิดหรือปิดไฟ เรากลับสามารถปรับระดับความสว่างของห้องแทน เมื่อเราเปิดม่าน หรือเวลากลางวัน หลอดไฟจะลดระดับความสว่างไปเอง

ไปไกลกว่านั้นอีกสักหน่อย ตู้ไมโครเวฟเหล่านั้นสามารถวัดระดับพลังงานของตัวเองที่ใช้ไปเพื่อการต้มน้ำได้ และรายงานออกมาเป็นตัวเลขว่าการต้มน้ำครั้งนั้นใช้พลังงานรวมเท่าใด เราอาจจะสังเกตได้ว่าวันนี้อากาศหนาวทำให้การต้มน้ำครั้งนี้ใช้พลังงานมากกว่าปกติ แต่หากเป็นวันที่อากาศร้อนแต่เครื่องยังใช้พลังงานสูงขึ้นต่อเนื่องก็อาจจะแสดงว่าเครื่องมีปัญหาบางอย่าง

เช่นเดียวกับเครื่องปรับอากาศที่แทนที่เราจะพยายามล้างแอร์ตามรอบ ที่แต่ละคนก็มีรอบที่ควรล้างไม่เท่ากัน เซ็นเซอร์จะช่วยคำนวณว่าที่เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพดีหรือไม่ หากเครื่องเริ่มอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ที่จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพก็สามารถเตือนผู้ใช้ให้ล้างแอร์ได้เองโดยไม่ต้องสนใจรอบการใช้งาน

รถยนต์ในอนาคตจะรายงานแทบทุกอย่าง รวมไปถึงน้ำหนักรถที่สามารถวัดจากความสูงของตัวถังรถจากพื้นได้ รถสามารถแจ้งเตือนผู้ใช้ได้ว่าใส่ของน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ประสิทธิภาพพลังงานแย่ลง หรือหากที่น้ำหนักรถไม่หนักมาก แต่อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันยังคงสูง ก็แสดงว่าถึงเวลาเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงแล้ว

 

2015 Resolutions

เพิ่งคิดถึงการตั้งเป้าหมายปีนี้

  • ฝึกเขียนภาษา Lua: ผมเขียนหลายภาษาอยู่เดิม แต่คิดว่าภาษา Lua น่าจะได้ใช้เข้าสักวัน
  • ส่งภาพเข้า Wiki Commons: ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะส่งภาพเข้าไปสัก 50 ภาพ
  • ควบคุมคุณภาพโค้ด: โค้ดในภาษาหลักๆ ที่โค้ดอย่าง Python ต้องผ่าน pylint, pep8 ทั้งหมด กำลังคิดถึง pep257 กับ coverage ด้วย แต่เป็น optional
 

ศาลเจ้ายาสุกุนิ

ได้ยินชื่อศาลเจ้ายาสุกุนิตามข่าวมานาน วันนี้เดินตามแหล่งแลนด์มาร์คไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอแบบไม่ตั้งใจ (เจอในคำแนะนำว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่สอง)

พอได้เดินครบก็ค่อนข้างเข้าใจว่าทำไมมันเป็นจุดขัดแย้งกับนานาชาติ บรรยากาศของศาลเจ้านอกจากให้ความเคารพกับนักรบที่เสียชีวิตในสงคราม โดยเฉพาะนักรบกลุ่มกามิกาเซ่ ยังค่อนข้างยืนยันว่า ชนวนสงคราม (ที่แปลในบอร์ดว่าเป็น Great Asia War) มาจากการป้องกันตัวเองของญี่ปุ่นในแมนจูเรีย และการแสดงก็เลือกเรื่องราวที่ญี่ปุ่นเข้าไปรักษาเมืองบางส่วนหลังจากยึดได้ สงครามกลายเป็นชนวนให้ชาติเอเชียจำนวนมากกลายเป็นเอกราช ขณะที่ข้ามเรื่องราวบางส่วนออกไป เช่น นานกิง

แต่อย่างไรก็ดีพิพิธภัณฑ์ทำออกมาได้ดีเยี่ยม ควรค่าที่คนสนใจเหตุการณ์สงครามโลกจะไปดูไม่ว่าจะมองว่าฝ่ายไหนเป็นอย่างไรก็ตาม เรื่องราวยังเล่าถึงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นได้อย่างค่อนข้างละเอียด ผมอ่านเนื้อหาภาษาอังกฤษยังรู้สึกว่าเยอะ ภาษาญี่ปุ่นมีเยอะกว่าสี่ห้าเท่า แถมบางห้องไม่มีแปล

ภาพข้างบนเป็นส่วนนิทรรศการส่วนหน้าที่ให้ดูฟรี หัวรถจักรเป็นหัวรถจักรที่ใช้งานในเส้นทางรถไฟสายมรณะไทย-พม่า ที่ทางการไทยใช้งานต่อหลังสงครามและส่งกลับไปญี่ปุ่นในที่สุด (ภาพนี้ผมบริจาคเข้า Wiki Commons)

 

Fairtrade

453px-FairTrade-Logo.svg

ผมเป็นคนเชื่อเรื่องการแข่งขันแบบทุนนิยมพอสมควร และไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไปอุ้มอาชีพใดๆ เช่น การเกษตร ในรูปแบบต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีโดยที่มองไม่เห็นวันที่อาชีพเหล่านั้นจะยืนหยัดในตลาดโลกได้

แต่คนจำนวนมากไม่ได้เชื่อเหมือนผม ขณะเดียวกันหลายประเทศไม่ได้มีกลไกที่จะเข้าไปอุ้มชูอาชีพที่มีคนจำนวนหนึ่งอยากให้มีต่อไป แม้จะแข่งขันได้ลำบากแล้วก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่เชื่อว่าเกษตรกรควรได้รับค่าสินค้าของเขาสูงกว่าราคาที่แข่งขันอย่างหนักในตลาดโลก

กลุ่ม Fairtrade จึงตั้งขึ้นมาเป็นตัวแทนของการรับรองว่าแบรนด์ต่างๆ ได้จ่ายให้กับเกษตรกรอย่างเพียงพอ ทางกลุ่มจะมีราคามาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรแต่ละอย่างเอาไว้ให้กับเกษตรกรแต่ละประเทศ อย่างเช่น ข้าวไทย ก็มีราคาตั้งแต่ตันละ 9399 บาทไปจนถึง 15665 บาท

แนวคิดอย่างนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่ใช่การบิดตลาด ตรงข้าม เป็นการสร้างคุณค่าให้กับผู้ซื้อกลุ่มที่เชื่อว่าเกษตรกรต้องมีรายได้ดีกว่าตอนนี้ ว่าเขาสามารถเลือกซื้อสินค้าบางยี่ห้อได้ และตอบสนองต่อความเชื่อทางสังคมของเขา แบบเดียวกับที่เรารู้สึกว่าข้าวบางสายพันธุ์บางกระบวนการผลิตน่าจะดีต่อสุขภาพมากกว่าปกติ หรือบางสายพันธุ์ถูกปากเรากว่าพันธุ์อื่นๆ

บ้านเราผมไม่เคยเห็นข้าวที่มีตรา Fairtrade จริงๆ แต่เห็นกาแฟเป็นส่วนมาก มีชาบ้างประปราย แต่กลุ่ม Fairtrade เองก็มีปัญหาในตัวเพราะคิดค่าใช้โลโก้ ค่อนข้างแพง บางกรณีเกือบ 10% ของราคาสินค้า ถ้าเราจะตั้งกลุ่มรับรองว่าชาวนาจะได้ค่าข้าวเท่าไหร่จึงน่าพอใจก็คงทำได้