Blognone Upgrade Path

ช่วงนี้ถึงเวลาการอัพเกรด Blognone อีกครั้ง ตอนแรกหวังว่าจะเสร็จในไตรมาสแรก แต่ตอนนี้คงไม่ทันแล้ว (หวังว่าจะเสร็จในช่วงเมษา) แต่เตรียมอะไรไว้หลายๆ อย่างแล้ว คงมาจดอีกไว้ก่อน

  1. การอัพเกรดรอบนี้คงเป็น clean install แล้วย้ายข้อมูลจากฐานข้อมูลเดิมมาด้วย script เพื่อลดขยะจากตารางสารพัดจากโมดูลที่เคยใช้ ตั้งแต่สมัย 5-6 ปีก่อน
  2. ใช้ Drupal 7 ตามแนวทางเว็บที่ทำไปก่อนหน้าแล้วคือ MEconomics
  3. ธีมเป็น Responsive ยกเลิกหน้าเว็บ Mobile/Kindle ออกทั้งหมด แก้ปัญหาเรื่อง SEO ไปด้วยพร้อมกัน
  4. เปิด authentication แบบเดัียวคือ OpenID เท่านั้น ยกเลิก Site Network เพราะตัว Drupal เองก็ไม่แนะนำให้ใช้มาตั้งแต่ Drupal 5 แล้ว
  5. Workflow จะเปลี่ยนไป เพราะมาใช้ Rules + Field Permissions แทน ทำให้ Writer สามารถเข้าไป Edit บาง field ได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้น

  1. เว็บใหม่ๆ น่าจะเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม จาก template เว็บที่สร้างไว้ + OpenID ทำให้วิธีการเชื่อมต่อกัน well define กว่าเดิม
  2. อาจจะเปิดให้คนเสนอเว็บแบบใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ
 

Open Deeds

ความหลากหลายของอินเทอร์เน็ตทำให้คนจำนวนมากมาเจอกันทั้งที่เขาเหล่านั้นอาจจะไม่มีวันได้เจอกันเลยในโลกความเป็นจริง พวกเขาถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในมิติที่ต่างออกไปจากคนยุคก่อนหน้า แทนที่จะเจอกันจริงๆ เพื่อทำความรู้จัก แต่คนในยุคนี้และยุคต่อๆ ไปจะเจอคนตามเรื่องราวความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่มาเจอกันนั้นจะมากขึ้นเรื่อยๆ การรู้จักกันตัวจริงๆ เรามีข้อมูลมากมายที่จะคาดเดาฝ่ายตรงข้ามได้ เราประเมินอายุ เพศ ศาสนา รสนิยม ฯลฯ ได้ทันทีที่พบกัน  แต่ในอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดกลายเป็นเพ่ียงตัวอักษร

เมื่อทำความรู้จักกันบนโลกความเป็นจริง เรามีโอกาสที่จะปรับตัวล่วงหน้า ระมัดระวังในบางเรื่อง

ช่วงนีคิดถึงเรื่องของการ “ประกาศตัว” เพื่อให้คนที่เข้ามาพูดคุยด้วยได้รู้ว่าตัวตนเบื้องต้นของเราเป็นอย่างไร เพื่อให้คนอื่นๆ สามารถทำความเข้าใจได้ดีขึ้น เช่น

  • ผมมองว่าการ unfollow/unfriend ไม่ได้แปลว่าไม่พอใจกัน
  • ผมรับไม่ได้ต่อการพูดคำหยาบ
  • ผมรับได้ต่อการพูดเรื่องเพศ
  • ฯลฯ

เราอาจจะสร้างหน้าเว็บสำหรับแนวทางแคบๆ เหล่านี้ขึ้นมา แต่ละแนวทางแคบๆ เช่นนี้มีโลโก้ของมันเองอย่างชัดเจน มีคำอธิบายที่เข้าใจได้ภายในไม่กี่ประโยค

รูปแบบนี้เป็นรูปแบบเดียวกับ Creative Commons ที่มี deed ให้อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ และมีโลโก้ให้แต่ละคนแสดงตัวได้อย่างชัดเจน

การขยายแนวทางนี้ออกไปให้ไม่จำกัดอยู่แค่ลิขสิทธิ์ แต่เป็นแนวทางในสังคมร่วมกัน ในเว็บหนึ่งๆ เองก็อาจจะประกาศแนวทางของตัวเองด้วย deed ชุดหนึ่ง ระบบทั้งหมดอาจจะทำให้คอมพิวเตอร์อ่านเข้าใจได้ (เป็น semantics) เราอาจจะมีเบราเซอร์ตรวจสอบแนวทางของเว็บ และตรวจสอบว่าเข้ากับแนวทางส่วนตัวของเราหรือไม่ เมื่อเราเข้าเว็บใดๆ เราอาจจะได้รับคำเตือนเช่น “เว็บนี้ยอมรับได้กับการเซ็นเซอร์เนื้อหาแม้ไม่ขัดแต่กฏหมาย แต่ …….. แนวทางทางนี้จะขัดต่อแนวทางของคุณว่าการเซ็นเซอร์ต้องเป็นไปตามกฏหมายเท่านั้น” เป็นต้น

 

Open Identity

ความเชื่ออย่างหนึ่งของผมคือในท้ายที่สุดแล้ว ระบบ Social Network ทั้งหมดจะพังลงมากลับมาเป็นเว็บอีกครั้ง

การรวมศูนย์ของระบบ Social Network เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคของ Web 2.0 บริการบล็อกต่างๆ พากันรวมศูนย์เข้าสู่ที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว เว็บที่เคยเป็นการสร้าง HTML ไปอัพโหลดตามที่ต่างๆ กลับกลายเป็นการไปพึ่งพิงอยู่ให้บริการใหญ่ๆ ไม่กี่ราย

แล้วถ้า Social Network จะแตกดับกลับมาเป็นเว็บอีกทีจะเป็นอย่างไร?

ผมเองเชื่อว่า Social Network มันคือเรื่องของปฎิสัมพันธ์ มันคือการ “เม้น status” และการ “mention” กันไปมา (แม้ผมจะเล่น Social Network แบบไม่ mention ก็ตาม)

ทุกวันนี้ผู้ให้บริการอย่าง Facebook ให้บริการปุ่ม Like ในเว็บต่างๆ และ Comment Box สักวันหนึ่งบริการเหล่านี้จะขยายตัวออกไปจากการบีบคั้นด้วยการแข่งขัน ทำให้ผู้บริการเหลา่นี้ต้องยอมกับกิจกรรมหลายๆ อย่างที่อาจจะไม่ได้ดึงคนไว้ในเว็บตัวเอง

อนาคตเราน่าจะ mention กันไปมาจากในบล็อกของเราเองได้ ระบบน่าจะเปิดพอที่เราจะอ้างถึงคนจาก Social Network ใดๆ ในหน้าเว็บใดๆ ได้ อาจจะมีคน mention ถึงเรา บริการ Social Network เหลือหน้าที่คือการรวบรวมและคัดกรองว่าจะเตือนเราเมื่อมีคนพูดถึงเราเมื่อใด มีการโต้ตอบถึงเราในที่ใดๆ หรือไม่

จริงๆ แล้วแนวคิดนี้ของ Google Plus ก็แอบย่องๆ ทำไปแล้ว ด้วย rel-author สักพักเมื่อมันเสร็จ เราน่าจะได้เห็นอะไรรูปแบบเดียวกับการ mention กันในเว็บได้แทบทุกแห่ง

 

SEO is here

ผมประกาศชัดมานานว่าผมเกลียดการกระทำ SEO ใดๆ ที่ไปยุ่งกับเว็บคนอื่นโดยเจ้าของเว็บเขาไม่ได้ยินดี และผมเรียกการกระทำนั้นว่าสแปมทั้งหมด

ผมคิดมานานว่าหากมีโอกาส จะรวบรวมเว็บจำนวนหนึ่งมาร่วมกัน “ต่อต้าน” การกระทำเช่นนี้ เพื่อสร้างผลลบให้กับการกระทำจนกระทั่งอย่างน้อยที่ที่สุด กลุ่มผู้เข้าร่วมได้รับการปกป้องจากการกระทำนั้น

สมาคมสำหรับการต่อต้านนั้นคิดไว้นานแล้วว่าจะรวบรวมกันมา ที่คิดไม่ออกคือ แล้วจะทำอะไรดีเมื่อถูกบุคคลเหล่านี้โจมตี

วันนี้แว๊บขึ้นมาว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่า ด้วยการสร้างเว็บมาทำ SEO แข่งกันเสียเลย

แนวคิดคือแทนที่เราจะปล่อยให้พื้นที่คีย์เวิร์ดบางอย่าง กลายเป็นพื้นที่เน่าๆ ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่มนุษย์ไม่สามารถอ่านให้มีประโยชน์ขึ้นมาได้ หรือเป็นข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ เราทำข้อมูลจริงขึ้นมาแข่งกันเสียในคีย์เวิร์ดนั้นๆ

ช่องทางที่เหล่าสแปมเมอร์เหล่านี้มักอาศัยอยู่เสมอๆ คือเว็บเนื้อหาจริงๆ นั้นไม่ได้สนใจจะทำ SEO กับคีย์บเวิร์ดใดเป็นพิเศษ เพราะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

แต่สมาคมต่อต้าน SEO นี้จะทำหน้าที่นั้น ด้วยการสัญญากันและกันของเว็บในเครือข่าย ว่าจะผลักดันให้เว็บที่สร้างขึ้นเพื่อต่อต้านนั้นขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งแทนได้ เช่้นทุกเว็บจะรับ feed ที่มีลิงก์ของเว็บกลางนี้ และสัญญาว่าจะวางมันไว้ในตำแหน่งที่มีผลต่อ SEO สูงๆ เช่นด้านบนของเว็บ โดยลิงก์ด้วยคีย์เวิร์ดที่ตรงกับคีย์เวิร์ดที่ถูกโจมตี เพื่อดันให้เว็บกลางนี้มีอันดับลอยขึ้นมาแล้วผลักเว็บผู้โจมตีลงไป

จุดสำคัญของเรื่องนี้คือกฏการลงมือ (Rules of Engagement) ที่ต้องชัดเจน ไม่อย่างนั้นสมาคมนี้จะกลายเป็นเครื่องมือทำ SEO ไปเสียเอง

  1. เว็บในเครือข่ายต้องถูกโจมตี และอาจจะต้องถูกโจมตี “มากพอ” เช่นว่ามีคนมาโพสครั้งเดียวลบทิ้งก็จบ อาจจะไม่นับ
  2. การโจมตีนั้นต้องมีผล เช่นว่าเว็บที่มาทำ SEO  หรือเว็บในเครือข่ายเดียวกันได้ขึ้นอันดับหนึ่งของกูเกิล พวกทำแล้วแป๊กให้ปล่อยไป
  3. การตอบโต้มีหลายระดับ นับแต่การผลักเว็บนั้นลงจากที่หนึ่ง ไปจนถึงการผลักมันลงไปจากหน้าแรก (ด้วยการสร้างเว็บจำนวนมากพอมาทำ SEO ในคีย์เวิร์ดเดียวกัน

เนื้อหาที่นำมาใส่ในเว็บเหล่านี้ต้องเป็นเนื้อหาจริง เช่นช่วยกันเขียนบล็อกท่องเที่ยว, ของกิน ฯลฯ ลงเว็บเดียวกัน เนื้อหาทั้งหมดต้องเป็นเนื้อหาใหม่ และลิงก์ไปยังเว็บที่มีเนื้อหาจริงในหมวดหมู่เดียวกัน เพื่อให้เว็บเหล่านั้นได้อันดับกลับมาหลังจากโจมตีสิ้นสุดลง

ยังคิดไม่สุดดีไม่รู้ว่าจะทำได้จริงรึเปล่า