เลือกหูฟัง

เนื่องจากเป็นคนชอบฟังเพลงพอสมควร (แต่เล่นไม่ได้เลย) และมีโอกาสได้จับเครื่องเสียงแพงๆ มาบ้าง แต่พอจะซื้อเองก็เลือกซื้อหูฟังเสมอ เพราะสะดวกกว่า

สิ่งที่เจอถามเสมอคือ “จะดูยังไง” เขียนรวมไว้ทีเดียว แล้วกัน

  1. เสียงดีไม่ดีขึ้นกับคนฟังเป็นหลังดังนั้นไม่ต้องพยายามฟังหูฟังดีๆ แล้วคิดว่ามันดี ไม่ต้องเรียนรู้ว่าซื้อของดีมาแล้วจะฟังยังไงให้รู้ว่าดี
  2. ร้านหูฟังที่ดีคือร้านที่มีให้ลองเยอะๆ ไม่ใช่ร้านที่ถูกที่สุด ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าคุณจะได้หูฟังราคาถูกที่สุด (ในรุ่นนั้นๆ) แต่คุณกลับชอบรุ่นที่ราคาถูกกว่า
  3. ถามตัวเองว่าใช้อะไรฟังเพลงมากที่สุด แล้วพยายามพกของชิ้นนั้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก เครื่องเล่น MP3 หรือโทรศัพท์มือถือ ร้านที่มีให้ลองจะไม่รังเกียจที่คุณจะใช้เครื่องของคุณลองเอง
  4. เลือกเพลงที่คุณฟังบ่อยที่สุดไปลอง พยายามใช้เพลงนั้นเป็นตัวเทียบ
  5. อย่าใช้เครื่องเล่นของร้าน (ยกเว้นคุณจะไปซื้อเครื่องเล่นพร้อมกันอยู่แล้ว)
  6. อย่าใช้เพลงของร้าน เหตุผลสำคัญคือร้านมักเลือกเพลงที่อัดมาดีมากๆ หรือเพลงค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว ทำให้ความรู้สึกว่าหูฟังดีถูกบิดเบี้ยวจากเพลงมันดี
  7. เวลาเลือก ให้เลือกโดยไม่สนใจราคาก่อนเสมอ ขอลองไปเรื่อยๆ ใช้เวลากับมัน ไม่อย่างนั้นความคิดจะถูกครอบงำด้วยราคาแล้วคิดไปเองได้ว่าของแพงต้องดีกว่า เลือกกลุ่มที่ถูกใจค่อยถามราคาหลังจำกัดกลุ่มที่ถูกใจได้แล้ว
  8. ร้านอาจจะเสนอทางเลือกเพิ่มเติม เช่น DAC (ซาวการ์ดเพิ่มเติม), หรือแอมป์ ถ้าใช้ในบ้านคงไม่มีปัญหา เลือกลองตามงบประมาณ ถ้าใช้นอกบ้านคิดด้วยว่าจริงๆ แล้วพร้อมจะแบกรึเปล่า
  9. ถ้าไม่พร้อมจะแบกเพิ่ม ก็ดื้อลองด้วยของที่ใช้จริงไป
  10. ถ้ารู้สึกว่าไม่ต่างกัน ซื้อรุ่นถูกก่อน
 

SSH multi port

มีหลายครั้งที่เราต้องการ ssh หลายชุดที่ไม่เกี่ยวกันไว้บนเครื่องเดียวกัน บาง app อาจจะไม่เป็น sshd ปกติแต่เปิด ssh เพื่อความปลอดภัยเฉยๆ

ปัญหาชีวิตคือพอเข้าเครื่องเดิม แล้วไปเจอ ssh คนละชุด ssh client จะร้องโหวกเหวกโวยวายว่าเรากำลังเจอเครื่องปลอม

ทางออกของเรื่องนี้คือบางครั้งก็ของ่ายๆ ให้มันยกเลิกการตรวจสอบไปก่อน ใน ssh มีตัวเลือก StrictHostKeyChecking ที่จะไม่เตือนผู้ใช้แม้จะเจอเครื่องที่ไม่รู้จัก และ UserKnownHostFile ที่ใช้เปลี่ยนไฟล์รายชื่อเครื่องที่เราเคยเข้า

ทางเลือกที่ง่ายที่สุดแต่ไม่ปลอดภัย คือ

ssh -oStrictHostKeyChecking=no -oUserKnownHostFile=/dev/null user@server -p 12345

พอใช้ ssh คนละตัวในเครื่องเดียวกัน ก็จะไหลเข้าไปเลย ไม่มีเตือนอีก

ท่านี้ไม่ดีนัก ถ้าเจอ MITM ขึ้นมาจริงๆ ก็ควรสร้าง UserKnownHostFile แยกออกไปต่างหากให้เรียบร้อย

 

อาหาร 2100

ในปี 2100

พาดหัวหนังสือพิมพ์ซ้ำๆ เช่นทุุกวัน หนุ่มใหญ่ตายคา fitness เพราะออกกำลังกายโดยไม่กินอะไรที่มีพลังงานเลยมาต่อเนื่องหลายวัน

ใช่แล้วอาหารไร้พลังงานในยุคนี้เป็นเรื่องปรกติ เราเห็นร้านอาหารจำนวนมากขายอาหารไีร้พลังงานกันเป็นเรื่องปรกติ

นวัตกรรมอาหารไร้พลังงานถูกคิดค้นมาได้ตั้งแต่ช่วงปี 2040 แต่กว่าจะเริ่มพัฒนารสชาติและเทคโนโลยีการผลิตให้เหมือนอาหารปรกติได้ก็ต้องใช้เวลาถุึงปี 2050 การคิดค้นเหล่านี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากมนุษย์ชาติต้องผจญกับโรคอ้วนไปแล้วกว่าค่อนโลก

หลายร้อยปีแห่งการต่อสู้กับการกันดารอาหาร เมื่อมนุษยชาติชนะสงครามนั้น กลับต้องเจอกับสงครามแห่งโรคอ้วนที่คร่าชีวิตคนไปมากมายตั้งแต่เด็ก

แต่เทคโนโลยีไม่ลำบากเท่ากับการให้สังคมยอมรับ หลายสิบปีที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากไม่ยอมรับว่าอาหารไร้พลังงานเหล่านี้ เช่นเดียวกับสมัยที่มนุษยชาติไม่ยอมรับมันฝรั่งที่เข้ามาทดแทนการกันดารอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งยืนยันว่าสามารถสัมผัสได้ว่ารสชาติของอาหารไร้พลังงานเหล่านี้แตกต่างจากอาหารปรกติ แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ และไม่มีใครยอมเข้าทดสอบ blind test ก็ตามที

โลกยังต้องต่อสู้กับโรคอ้วนโดยหวังว่าการลดความอ้วนที่แท้จริงคือการไม่กินเกินกว่าความต้องการ ในยุคที่อาหารราคาถูกจนแทบจะเป็นของฟรีเมื่อเทียบกับรายได้ของคนในยุคนี้

ผมแทะน่องไก่ไร้พลังงาน ผู้ผลิตยืนยันว่ารสชาติมันเหมือนกับน่องไก่เลี้ยงตามบ้านทุกประการ น่องไก่แบบนี้เพิ่งได้รับการยอมรับให้วางขายทั่วไปในปี 2080 ที่ผ่านมา และต้องกลายเป็นอาหารที่แพทย์สั่งให้คนป่วยได้กินเท่านั้น

แต่ภายในไม่นานหลังจากนั้นคนเริ่มยอมรับมันมากขึ้น ร้านบุฟเฟ่ห์เนื้อแบบไร้พลังงานร้านแรกเปิดกิจการในปี 2087 มันได้รับความนิยมอย่างสูง และแพร่ออกไปเป็นร้านอาหารไร้พลังงานจนทั่วในช่วงปี 2090 ที่ผ่านมา

คนเสียชีวิตจากการขาดอาหารทั้งที่กินอาหารตลอดเวลา แต่กลับกินแต่อาหารไร้พลังงานคนแรกเสียชีวิตในปี 2095 หลังจากนั้นภาครัฐต้องเข้าควบคุมหลายๆ อย่าง ร้านอาหารไร้พลังงานถูกสั่งห้าม และทุกร้านต้องมีเมนูอาหารที่มีพลังงานอยู่ในเมนูด้วยเสมอ ขนมขบเคี้ยวถูกเรียกร้องให้เตือนตัวใหญ่ๆ ว่าเป็นอาหารไร้พลังงาน

แอพพลิเคชั่นยอดนิยมกลุ่มใหม่ในช่วงหลายปีมานี้คือ food tracker ที่ให้เราบันทึกว่าเรากินอาหารมีพลังงานไปเพียงพอต่อความต้องการหรือยัง และเตือนให้เรากินของหวานก่อนนอนจะได้พลังงานครบถ้วนตามกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน

ล่าสุดกลุ่มนักวิจัยกำลังวิจัยอาหารที่รับรู้ว่าเรากินอาหารเข้าไปเท่าใหร่แล้วในแต่ละวัน และปล่อยสารอาหารออกมาให้พอดีกัน ลองจิตนาการถึงยุคที่คุณกินเท่าใหร่ก็ได้แต่ไม่อ้วนหรือไม่ผอมลงเลยสิ

ผมทนรอมันแทบไม่ไหวแล้ว

 

On the Post PC Era

เรื่องที่มองๆ อุตสาหกรรมช่วงนี้มาสักพักคือความเปลี่ยนแปลงในอีกสองปีข้างหน้า ว่ามันจะเป็นไปในทางไหน จากที่ตอนนี้ฝุ่นยังค่อนข้างตลบ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน

ตอนนี้โลกเรามีทั้ง PC ที่ยังแข็งแกร่ง, Netbook ที่อ่อนแรง, Ultrabook ที่น่าจะมา, Tablet, และโทรศัพท์มือถือ

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อแนวทางของ Asus ที่เลือกผลิต transformer ที่สุด

ปัญหาสำคัญของวินโดวส์และลินุกซ์แบบเดสก์ทอปทุกวันนี้คือมันไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการประหยัดพลังงานนัก การทำงานของ OS ออกแบบไว้ให้จำลอง “เครื่องเสมือน” สำหรับทุกโปรแกรม

ในยุคที่เป็นเดสก์ทอปจริงๆ แนวคิดแบบนี้ก็โอเคดี เพราะพัฒนาง่าย แต่ในยุคที่พลังานเป็นข้อจำกัด มันกลายเป็นปัญหาไป

tablet/mobile ทุกวันนี้มีแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาด้วยแนวคิดยุคใหม่ๆ แอพพลิเคชั่นแยกส่วนที่จำเป็นต้องรันตลอดเวลาออกจากส่วนที่ไม่จำเป็น ส่วนที่ไม่จำเป็นถูกฆ่าได้เสมอหาก OS ตัดสินใจ แต่ด้วย form factor ที่ไม่เหมาะกับการทำงานจริงจัง มันยังเป็นข้อจำกัดอยู่

โลกยังมีตลาดใหญ่มากคือตลาดที่ต้องการออกจากพีซี แต่ต้องการใช้ทำงานแบบเดิม

คนเหล่านี้ต้องการ ทำ word processing และ spread sheet เป็นงานหลัก และต้องตอบอีเมลตลอดวัน เข้าห้องประชุม นำเสนองาน ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็หงุดหงิดกับการที่ต้องแบกสายชาร์จและหาปลั๊กไปเรื่อยๆ

เรื่องที่ผมเชื่อคือวันหนึ่งโลกเราจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เลขาหน้าห้องจะค่อยๆ ใช้แท็บเล็ตทำงาน พิมพ์งานอย่างจริงจัง

และถึงวันหนึ่งเราก็จะเริ่มสงสัยว่าเราจะใช้วินโดวส์ทำไม

รูปร่างหน้าตาคอมพิวเตอร์ที่เราถืออาจจะไม่ต่างออกไป แค่เราแบกมันมากขึ้น น้ำหนักมันเบาลง และเราทิ้งสายชาร์จไว้ที่บ้านยกเว้นเวลาไปต่างจังหวัด