กี่นาที

เรื่องที่บ้านเราทำกันไม่ค่อยได้คือการไปให้ตรงนัดแบบพอดีเป๊ะๆ สมัยก่อนนั้นเราคงอ้างได้ว่ากรุงเทพฯ รถมันติด แต่สมัยนี้แม้จะทำงานในกรุงเทพฯ ที่เป็นแนวรถไฟฟ้า เราก็ยังคงเห็นการไม่ตรงเวลาอยู่นั่นเอง

เรื่องระเบียบคนก็ต้องสร้างกันไป แต่เรื่องหนึ่งที่บ้านเราไม่มีคือข้อมูลพื้นฐานประกอบการวางแผน เรามีโฆษณา BTS ที่โฆษณาว่าเร็วสารพัด หรือโฆษณา MRT ว่ามาตรงเวลาถึง  95% แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าถ้าเราไปถึงประตูรถไฟฟ้าแล้วเราจะถึงปลายทางในกี่นาที และเราต้องเผื่อเวลาไว้เท่าใหร่

เมื่อวานเลยลองจับเวลาแต่ละสถานีเล่นๆ จากหมอชิตไปอโศก

  1. หมอชิต (0.00) จุดเริ่มต้น
  2. สะพานควาย (+2.11)
  3. อารีย์ (+2.09)
  4. สนามเป้า (+1.43)
  5. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (+2.34)
  6. พญาไท (+1.47)
  7. ราชเทวี (+1.36)
  8. สยาม (+2.08)
  9. ชิดลม (+2.31)
  10. เพลินจิต (+1.33)
  11. นานา (+1.44)
  12. อโศก (+1.31)

ถ้ามีแผนผังทั้งระบบรถไฟอีกหน่อยเวลาใครโทรตามเราจะได้ไม่ต้องบอกส่งเดชว่า “อีก 5 นาที” แค่ดูจำนวนป้ายแล้วบวกเวลากันประมาณไปได้เลย

 

มองที่เดิม

บางทีผมเองก็ชอบมองประวัติตัวเอง

อาจจะเป็นเมลเก่าๆ ภาพเก่าๆ blog เก่าๆ กระทั่ง chat log

มองแล้วก็ถามตัวเองว่าคิดอะไรถึงได้ทำอะไรอย่างนั้นไป

มองแล้วก็ถามตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำอะไรที่ต่างออกไป

มันเป็นคำถามที่ไม่มีวันมีคำตอบ

บางทีเหตุผลของการกระทำบางอย่างก็แทบจะสุ่มมั่วจนหาเหตุผลไม่ได้

ผลของการกระทำนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ที่เราไม่มีวันรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไรถ้าการกระทำเราต่างออกไป

แต่เราก็ยังมองกลับไปช่วงเวลาเหล่านั้น

แล้วคำถามก็ยังอยู่กับเราต่อไป….

 

ครั้งที่ n

ช่วงนี้พอดีงานส่วนหนึ่งเป็นการโค้ชรุ่นน้องให้โค้ดงานแทน พอช่วยๆ แล้วเริ่มจำตัวเองสมัยยังเด็กๆ ได้

ในครั้งหนึ่ง เวลาที่ผมเจอรายงานความผิดพลาดจาก gcc โลกแทบจะสลาย มือไม้สั่น รายงานความผิดพลาดยาวเหยียดที่พ่นออกมาสร้างเขาวงกตว่าเราควรแก้ตรงไหน ความกลัวทำให้เราเลือกที่จะไม่อ่าน เลือกที่จะไม่เรียนรู้ แล้วกลับไปนั่งจ้องโค้ดแย่ๆ ของเราต่อไป

ไม่รู้ว่าเพราะบางครั้งปัญหามันแก้ไม่ได้ด้วยการจ้องโค้ดหรือกูเกิลมันเข้ามาในชีวิตมากขึ้น เราเริ่มเอารายงานความผิดพลาดทั้งดุ้น ยัดใส่กูเกิล แล้วภาวนาว่าจะมีใครสักคนในโลกใบนี้ บอกเราว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

บางครั้งไม่มีก็กลับไปนั่งทางในกับโค้ดเดิมๆ ต่อไป

มองกลับมาวันนี้ เมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้นับครั้งไม่ถ้วน ผมกล้าที่จะค่อยๆ อ่านว่าปัญหาเหล่านั้นมันเกิดจากอะไร และน่าจะแก้ได้จากอะไรกัน

ในกระบวนการเรียนรู้ ไม่มีครั้งไหนที่ไม่ผ่านความเจ็บปวด การเรียนรู้ที่จะอ่านรายงานความผิดพลาดหลายต่อหลายครั้งเกิดหลังการเสียเวลาทำงานไปแล้วหลายต่อหลายวัน กับงานที่ไม่ได้เดินหน้าไปไหน

เมื่อเรามายืนอยู่ที่ความผิดพลาดครั้งที่ n มันง่ายที่จะบอกว่าเราทำได้ดีกว่าครั้งที่ n – 1

แต่น่าสงสัยว่าแล้วครั้งต่อไปล่ะ เราจะเป็นอย่างไรกัน

 

ทางง่าย

เวลาที่เรามองปัจจุบัน มันยากที่เราจะมองมันด้วยความชื่นชม

ความทุกข์ ความเลวร้าย และเรื่องแย่ๆ ที่อยู่ตรงหน้า มันเต็มไปด้วยเรื่องที่เราไม่รู้จะทำยังไงให้เรามีความสุขกับมัน

แต่กับเวลาที่เรามองอดีต เรื่องราวมันง่ายกว่านั้นมากนัก แม้แต่ช่วงเวลาที่แย่ที่สุด เราก็ยังมองด้วยความสุข สามารถเห็นด้านดีๆ ของช่วงเวลาที่เลวร้ายนั้นได้ไม่ยาก

เรามองย้อนกลับไปแล้วยิ้มกับมัน และบึ้งตึงทุกครั้งเมื่อมองสิ่งตรงหน้า

 

เรื่องที่ยากอย่างหนึ่งในชีวิตคงเป็นการตระหนักว่าสิ่งตรงหน้าเราดีอย่างไร มันอาจจะไม่สมบูรณ์เหมือนที่เราเคยฝันไว้ในจินตนาการ แต่เมื่อเรามองด้วยความเป็นจริง เราอาจจะพบว่าตรงหน้านั้นก็มีเรื่องดีๆ อยู่มากมาย

แน่นอนในนาทีที่ยาก เรามองเทียบตรงหน้ากับอดีต และเห็นแต่ด้านแย่ ขณะที่เราโหยหาอดีตอันแสนหวาน

เราจะทิ้งสิ่งตรงหน้านี้ไปเลยไหม?

มันง่ายที่จะทิ้งอะไรสักอย่างไป ง่ายกว่าที่เราจะกลับมานั่งคิดดีๆ ว่าเราจะมีความสุขกับการไม่มีมันจริงๆ รึเปล่า

 

เราอาจจะเลือกทางง่ายไปเรื่อยๆ เมื่อไม่พอใจอะไรสักอย่างก็ทิ้งมันไป แล้วก็เดินทางใหม่ แล้วพบกับช่วงเวลาที่เราไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมที่ผ่านมาเราจึงเจอแต่สิ่งที่แย่ลง

จนถึงวันหนึ่งที่เราอยากจะย้อนกลับไป ก็ไม่มีที่ให้กลับไปเสียแล้ว

 

บางทีลองมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราอีกที แล้วค่อยๆ คิดว่าเราอยากจะทิ้งมันไปกลับไปหาสิ่งเดิมที่เราเคยประสบรึเปล่า

 

หลายครั้งอาจจะได้คำตอบที่เปลี่ยนการกระทำของเราเอง