Author: lewcpe
Fair Use vs. Copyright Free
จากข่าว Oracle v. Google คิดว่าการที่กูเกิลชนะท่า Fair Use ไม่ใช่ท่าที่ดีนัก มีประเด็นที่ควรจดไว้ถามผู้รู้ (ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ)
- การเป็น fair use มีข้อจำกัดกว่าการไร้การคุ้มครองไปเลยหลายอย่าง
- สิ่งสำคัญในการอ้าง fair use คือ งานต้องไม่มากเกินไป (เมื่อเทียบกับเนื้องานทั้งหมด) เช่น หนังสือ 100 หน้าก็อปได้ 1 หน้า กรณี API เป็น fair use ยังไม่มีบรรทัดฐานเสียที่เดียวว่าแค่ไหน ถ้า API บางอย่างมันเยอะเข้าจะใช้งานได้ต่อไปไหม เช่นพวก util lib ทั้งหลาย โค้ดจริงอาจจะยาวกว่า API ไม่ถึงสิบเท่าตัว ต่อให้เขียนใหม่ตัวประกาศ API ก็อาจจะเกิน 10%
- กรณีแอนดรอยด์ การแพ็กรวมแอนดรอยด์ทั้งหมด (ไม่ใช่แค่จาวาในแอนดรอยด์) ทำให้โค้ด Java ที่ถูกสำเนามาใช้งานมีระดับต่ำ กรณีที่ทำ lib ประเภท drop-in replacement ก็จะมีคำถามหนัก อย่างกรณีจาวา ถ้าคนทำออราเคิลหันไปฟ้อง Apache Harmony จะรอดไหม และหลับไปคำถามข้อที่แล้วคือ งานใหม่ที่เทียบกับ API ที่สำเนามาก็จะน้อยลง จะรอดไหม?
- โดยส่วนตัวสนับสนุน copyright reform ให้ถอดการคุ้มครองส่วนนี้ทิ้งไปเสียเลย การประกาศส่วนเชื่อมต่อซอฟต์แวร์เข้ากับซอฟต์แวร์รายอื่น (public API) ให้ไม่มีลิขสิทธิ์ ฮาร์ดแวร์ประกาศแบบเดียวกันได้ไหม? ระบบบัสเช่น SPI, I2C จะไม่มีลิขสิทธิ์ได้ไหม อันนี้่น่าสนใจต้องหาข้อมูลต่อ ส่วน lib ที่ใช้ภายในไม่ได้ยกเว้นไปด้วย (กลับไปแบบ Alsup ว่า แต่อาศัยกระบวนการแก้กฎหมายแทน)
ขอบคุณที่มาส่ง และเราคงไม่พบกันอีก
ชีวิตนักอ่านของผมที่ขอบคุณที่สุดคงเป็นพ่อผมเอง มีวางนโยบาย “หนังสือคือสิ่งจำเป็น” มาโดยตลอด ผมซื้อของในห้างเกินพันครั้งแรกก็คือหนังสือ (และมองกลับไปตอนนั้นยังคิดว่าทำไมซื้อเยอะขนาดนั้น แต่ตอนนี้ผมซื้อได้เล่มเดียว) แต่อีกในช่วงเวลาก็มีนักเขียนอีกคนที่มีอิทธิพลต่อการอ่านของผมเป็นอย่างมาก
ผมพบหนังสือของเขาในร้านหนังสือระหว่างนั่งรถเมลกลับบ้านและตัดสินใจหยิบมันกลับมาเล่มหนึ่ง พบว่ามันสนุกดีและหลังจากนั้นก็ซื้อหนังสือของเขามาเรื่อยๆ แต่จุดสำคัญคงเป็นหนังสือนิยายประวัติศาสตร์ จากวิชาน่าหลับสมัยมัธยมต้น หนังสือเล่มนั้นเปิดโลกว่าประวัติศาสตร์และการเรียนรู้จากอดีตเป็นอย่างไร ผมมองวิชาประวัติศาสตร์ไปอีกแบบ อ่านหนังสือที่ดูจะอ่านยากๆ ได้มากขึ้น มุมมองที่ยังคงงงๆ แต่จากเนื้อเรื่องที่ดึงประวัติศาสตร์มาใช้อย่างก้าวกระโดดไปมา แต่ทั้งหมดก็ทำให้การอ่านหนังสือเชิงวิชาการมีความสนุกขึ้นอย่างมาก
ผมยังคงอ่านหนังสือของเขาทุกเล่ม (ทุกเล่มจริงๆ) อยู่หลายปี ซื้อหนังสือและมีโอกาสขอลายเซ็นอยู่บ้าง แม้จะไม่ใช่คนเก็บหนังสือ และโดยเฉพาะไม่ได้เป็นคน “รักษา” หนังสือเท่าใดนัก
สิ่งที่เคยจุดประกายให้ผมอ่านหนังสืออีกหมวดหนึ่งที่ผมอาจจะไม่อ่านเลยหากไม่ได้มีการจุดประกายไว้อย่างสนุกสนานและอ่านได้ง่ายก่อนหน้า กลับเริ่มถูกตั้งคำถามว่าภายใต้ความง่ายและความสนุกนั้นมันถูกเลือกอย่างจงใจ ถูกวางจังหวะและเวลามาอย่างระมัดระวัง
ถึงจุดหนึ่งผมพบว่าผมสนุกกับประวัติศาสตร์ได้เอง ผมพบว่าความ “ง่าย” นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมปรารถนาเท่าใดนักอีกต่อไป ผมอ่านผลงานในช่วงหลังแล้วพบว่าการเปิดโลกว่าหนังสือเล่มหนึ่งไม่ใช่เพียงเขียนเพื่อความสนุกแต่อ้างอิงความจริงเป็นฐาน ในความบิดเบี้ยวจากความเป็นจริงแล้วก็น่าสงสัยว่ามันจะบิดต่างจากการจินตนาการล้วนๆ มากน้อยแค่ไหน
ผมหยุดอ่านหนังสือของเขาไปนาน หนังสือเล่มหลังๆ ที่ซื้อมาผมพบว่าอ่านไม่จบ จนบางเล่มก็ไม่เคยเปิดอ่าน
ผมยังจำความตื่นเต้นของเด็กม. 3 ที่แอบเปิดไฟอ่านหนังสือใต้ผ้าห่มเพราะไม่สามารถหยุดอ่านหนังสือเล่มแรกๆ นั้นได้ และมันคงเป็นส่วนหนึ่งของผมไปตลอดกาล
อย่างไรก็ดี เมื่อผมเห็นหนังสือเหล่านั้นอีกครั้่ง ผมก็คิดในใจกับพวกมันว่า
“ขอบคุณที่มาส่ง และเราคงไม่ได้พบกันอีก”
Facebook and Minds
เห็นคนแห่ไปใช้ Minds กัน มีความเห็นประมาณนี้ ไว้รวมๆ เขียนบทความอีกที
- การบอกว่าอะไรปลอดภัยหรือไม่ ใช้เวลาพอสมควร โลกเรามีบริการที่อ้างว่าปลอดภัยเป็นพิเศษโน้นนี้จำนวนมาก แต่เอาเข้าจริงมั่วก็เยอะ
- Minds เพิ่งมาตอนหลัง น่าสงสัยว่ากระบวนการรักษาความปลอดภัยที่ว่านั้นจริงแค่ไหน
- ที่จริงแล้ว Minds เปิดซอร์สให้ดูบน Github แต่บริการที่ยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญไปส่องเยอะนัก
- ถ้าต้องการแค่แชต เอาจริงๆ มีบริการแชตที่เข้ารหัส end-to-end มากมายแล้วในตอนนี้ และดูจะผ่านการทดสอบมาเยอะกว่า
- ผมไม่คิดว่าการเข้ารหัสแบบ end-to-end ลดความน่ากลัวแบบ “ไทยๆ” ได้นัก ผมไม่คิดว่ามีใครในไทยมีศักยภาพในการถอดรหัส HTTPS/TLS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การ “แฮก” โดยทั่วไปก็น่าจะเป็นการเข้าถึงตัวเครื่องของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อย่างมากที่สุดคือหาทางลงมัลแวร์ในเครื่องเหยื่อ ซึ่งไม่ว่าแอปอะไร เข้ารหัสแค่ไหนก็ไม่รอด ตราบใดที่ยังเลินเล่อ ไม่สนใจเข้ารหัสเครื่อง ล็อกจอ และบอกว่าจะไม่เรียนรู้อะไรนอกจากภาวนาให้โลกปลอดภัย แอปจะเข้ารหัสประเสริฐแค่ไหน คนนึงไม่ล็อกเครื่องเอาไปเปิดก็อ่านแชตได้ เพราะมันใช้งานแบบนั้น
- ในแง่ความไม่ใส่ใจของผู้ใช้ถ้าคนจะไม่ใส่ใจยังไงเสียก็ไม่ใส่ใจ ความปลอดภัยคงทำได้ยาก
- จะช่วยได้บ้าง เช่นหาทางสื่อสารที่บันทึกได้ยากขึ้น เช่น ถ้าคุยเรื่องที่ต้องการไม่ให้มีบันทึกก็อย่าแชต เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์ ออนไลน์ก็ได้ ก็ลดความเสี่ยงได้ เพราะตัวเนื้อหาไม่มีการเก็บบนเครื่องเป็นปกติ
- แอปแชตบางตัวพยายามเลียนแบบการโทร เช่น telegram มีการแจ้งเตือนเมื่อ capture หน้าจอ (ซึ่งก็ใช้กล้องอีกตัวมาถ่ายได้อยู่ดี อย่างที่บอก มันแค่ลดความเสี่ยง เหมือนโทรศัพท์ก็ใช้เครื่องอัดเสียงได้)
- อีกประเด็นคือรู้ตัวเสนอว่าข้อมูลมันผูกกับข้อมูลส่วนตัวของเราจำนวนมาก กรณีแอปแชตตัวทั่วไปคือเบอร์โทรศัพท์ที่บังคับผูกเบอร์ (ซึ่งมันห่วยนะ ทำไมมันชอบทำกันเป็นแฟชั่น) อย่าง Facebook นี่ก็อย่างน้อยคืออีเมล และข้อมูลที่ให้ๆ ไปบางทีมันรู้จักเราดีกว่าตัวเราเอง
- เท่าที่ลองใช้งาน ในแง่ความเป็นส่วนตัวจากมุมมองว่ามันไม่ร้องขอข้อมูลเรา ดีที่สุดคือ BitTorrent Bleep ไม่ขออะไรทั้งสิ้น สร้าง key แล้วใช้งานได้เลย
- ในแง่ความปลอดภัยยังน่าสงสัยอยู่ (เช่นเดียวกับ Minds คนมันยังใช้น้อย ยังถูกทดสอบน้อยอยู่) แถมตัวโปรโตคอลเองก็ไม่เปิดเผยนัก ที่แน่ๆ คือฝั่งตรงข้ามจะรู้ไอพีเรา แต่คนดักฟังจะเห็น ID ของเราไหมนี่ยังไม่แน่ใจ
- แต่ในแง่การใช้งานจริง Bleep นี่ไม่เวิร์ครุนแรง ต่อติดยาก ข้อความช้า
- อีกตัวที่แนวคิดเดียวกันแต่หยุดพัฒนาไปนานแล้วคือ TorChat