เขียนอย่างไร

อยากทำบทความประมาณ how-to blognone อะไรอย่างนั้นมาสักพัก อันนี้ถือเป็น Alpha1 แล้วกันนะ

เรื่องการเขียนบทความใน Blognone โดยทั่วไปแล้วแนวคิดคือการมีส่วนร่วมของเหล่าสมาชิก ทีมงานหลัก Blognone คือผมกับมาร์คมีความเห็นตรงกันคือ อยากเห็นผู้อ่านมีส่วนร่วม เพราะเราเคยอ่านผ่านสื่อที่ผู้อ่านมีส่วนร่วมน้อยมาก่อน สิ่งที่เราคิดคือการที่เราไ่ม่สามารถมีส่วนร่วมกับสื่อต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็น หรือการเสนอแนะว่าควรติดตามหรือไม่ติดตามข่าวใด ทำให้สื่อในยุคเก่าๆ ตอบสนองเราได้ไม่ดีเลย

การเขียนใน Blognone จึงเริ่มจากความกล้าเป็นส่วนใหญ่ ถ้าย้อนกลับไปสมัยเว็บเปิดใหม่ๆ เมื่อเืกือบสองปีก่อน จะเห็นบทความยุคเก่าๆ ที่ยังค่อนข้างไม่มีแนวทาง หรือกา่รใช้ภาษาที่ยังอ่อนแอกว่าในตอนนี้มากๆ แต่ทีมงานก็ทำเว็บมาเรื่อยๆ พร้อมกับการปรับปรุงไปอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง อาจจะบอกได้ว่านี่เป็นอีกข้อดีของ Blognone คือขณะที่คุณแบ่งปันให้กับสังคมโดยรวม จะมีคำวิจารณ์ และความคิดเห็นเพื่อช่วยพัฒนาตัวผู้เขียนไปด้วยเช่นกัน

อย่ากลัวที่จะแตกต่าง แม้สังคมโดยรวมของ Blognone จะมีแนวคิดคล้ายคลึงกันในหลายๆ ส่วน อย่ากลัวที่จะแสดงความเห็นที่แตกต่างออกไป หากความเห็นนั้นมีแนวคิดสนับสนุนที่มีเหตุผลมารองรับเพียงพอ เช่นแม้ทีมงาน Blognone จะสนับสนุนการใช้ Firefox แต่หากคุณต้องการเขียนบทความเกี่ยวกับการใช้ IE หรือข้อดีของมัน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้สำหรับทีมงาน แต่อย่างไรก็ตามทีมงานยังคงสงวนสิทธิที่จะเผยแพร่แนวคิดของตน ผ่านทางโฆษณาหรือบทความบทตัวเว็บเอาไว้

อย่ากลัวความผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแม่นยำของข้อมูล หรือการใช้ภาษา ตลอดจนรูปแบบของข่าว ทีมงานขอเพียงผู้เขียนทุกท่านตรวจสอบความถูกต้องเท่าที่ทำได้ โดยอาจจะตรวจจากเว็บ หรือแหล่งข่าวที่ท่านเชื่อถือ แต่หากเกิดความผิดพลาดและมีผู้แจ้งเข้ามา ก็อย่ากลัวที่จะแก้ไขเช่นกัน เราถือเป็นเรื่องที่ยนอมรับได้กับความผิดพลาด และการแก้ไขแม้มันจะเกิดขึ้นบ่้อยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรามีขีดจำกัดของความผิดพลาดที่เรายอมรับไม่ได้ หรือความผิดพลาดที่ทีมงานเห็นในทันทีโดยไม่ต้องการการตรวจสอบเพิ่มเติม ในกรณีเช่นนี้ บทความของท่านอาจจะถูกลบโดยไม่ได้ขึ้นหน้าแรก

แนวคิดข้างต้นเป็นแนวคิดโดยรวมๆ ของการเขียนทั้งความเห็นและข่าว แต่สำหรับข่าวแล้ว ควรเพิ่มเงื่อนไขเพื่อแสดงความเป็นข่าวเอาไว้ด้วย เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ที่ควรมีคือทำไมเราจึงควรสนใจข่าวนั้นๆ ส่วนเพิ่มเติมที่จะมีหรือไม่มีก็ได้เช่นผู้เขียนมีความเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ ซึ่งจะเห็นทีมงานใส่ไว้เสมอๆ

ขอให้ทุกท่านสนุกกับการ “มีส่วนร่วม” ในเว็บของเรา

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com