NFT

หลายคนถามว่า NFT จะเกิดไหม ฟองสบู่ไหม หรือตอนนี้แค่ฟอกเงิน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อใน NFT พอพอสมควร (50-60% ว่ามันจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ เกี่ยวพันประชากรส่วนใหญ่ภายในสิบปี)

แต่เช่นเดียวกับคำใหญ่ๆ ด้านไอทีทั้งหลาย (Metaverse, Zero Trust, Blockchain, … ) ความหมายมันไหลไปเรื่อยตามคนที่พูด (It mean anything to anyone) ทำให้เวลาพูด พูดไม่ตรงกันไปหมด

แต่มุมมองหนึ่งของ NFT ที่พูดๆ กันคือ portable DRM เวลาส่งต่อแล้ว คนเดิมหมดสิทธิ์ไป อีกคนมีสิทธิ์ใช้งานแทนที ซึ่งแพลตฟอร์มทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่นี้แต่อย่างใด แต่หลายคน “รู้สึก” ไปเองว่ามันทำหน้าที่นี้ รู้สึกไปเองว่าถ้าเจ้าของเดิมขาย NFT ภาพให้เราแล้วก็ควรไม่จัดแสดงใน “Metaverse” อีก (ทั้งที่การขายไม่มีสัญญาอะไรว่าจะมีใครทำตาม)

token อย่างหนึ่งที่โลกของเราใช้ในการแสดงความเป็นเจ้าของอยู่คือแผ่นเกมคอนโซลทั้งหลาย ที่ทุกวันนี้ตัวแผ่นแทบไม่มีค่าอะไรแล้วในเชิงเทคนิค ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แผ่นเกมใส่เครื่องวันแรกแล้วคนใช้จะต้องดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่กว่าในแผ่นเสียอีกมาลงเครื่อง แต่ก็ต้องมีแผ่นเพื่อ “แสดงความเป็นเจ้าของ” เฉยๆ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

เกมดิจิทัลหลายครั้งถูกกว่า สะดวกกว่า ประหยัดกว่า แต่มันทดแทนไม่ได้เพราะแผ่นทำให้เราสามารขายเกมต่อไปมาได้ เรายอมจ่ายต้นทุนมหาศาล สร้างช่องทางค้าปลีกอันซับซ้อน ขนแผ่นและกล่องข้ามโลกไปมา เพื่อหาทางระบุตัวตนว่าใครเป็นคนถือสิทธิ์ ณ ตอนนี้ ในยุคที่เราพูดเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ การกระทำเช่นนี้น่าจะเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ

ถ้าค่ายเกมต่างๆ ยอมปล่อยให้เกมกลายเป็น NFT ยอมเคารพความเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์ได้ ก็น่าจะเป็นการเปิดฉากการซื้อขายซอฟต์แวร์ด้วยแผ่นหรือตลับในโลกความเป็นจริง

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้ blockchain…. (อย่างน้อยก็ในรูปแบบเดียวกับ Ethereum)

ในความเป็นจริงการสร้าง ledger เพื่อเก็บความเป็นเจ้าของนั้นสามารถทำได้อย่างเรียบง่ายกว่า NFT ทุกวันนี้มากๆ ตัวค่ายคอนโซลหรือ publisher ต่างๆ สามารถตั้งเซิร์ฟเวอร์เก็บ ledger ขึ้นมาโดยมีต้นทุนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าเกม การโหลดไฟล์เกม 100GB น่าจะแพงกว่ามาก แต่ทุกวันนี้ก็ให้บริการกันได้โดยไม่เก็บเงินเพิ่ม พวกเขาสามารถเปิดให้แม้แต่คนภายนอกที่ไม่ไม่คอนโซลหรือบัญชี Steam สามารถซื้องานชิ้นต่างๆ สะสมไว้ publisher สามารถอนุญาตให้ลูกค้าย้าย “เครื่อง” ไปมาได้ข้ามแพลตฟอร์ม หากเกมนั้นลงหลายแพลตฟอร์มอยู่แล้ว

บริการสตรีมเพลงบางรายในเกาหลีเปิดให้สมาชิก “ซื้อ” เพลงด้วยเครดิตที่ได้มาทุกเดือน (โมเดลการจ่ายเงินน่าจะเป็นแบบ Super Like ที่ศิลปินคนนั้นจะได้เงินเยอะเป็นพิเศษเทียบกับการฟังตามปกติ) แต่เดิมนั้นการซื้อจะต้องเป็นแบบ no DRM อย่างเดียว หากมีศูนย์กลาง portable DRM ที่ย้ายไปใช้แพลตฟอร์มอื่นได้กว้างขวางก็จะเป็นอีกตัวเลือก แน่นอน DRM มีปัญหาในตัวมันเองหลายอย่าง แต่การที่แพลตฟอร์มเปิดให้ถ่ายโอน DRM ไปมาก็จะลดปัญหาของมันไปอีกหนึ่งอย่างคือความเป็นเจ้าของของผู้ซื้อ

ประเด็นอย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตกลัวอาจจะเป็นการเปลี่ยนมือที่รวดเร็วเกินไป เลยชอบขายเป็นแผ่น เพราะส่งช้าดี ทำให้มีการเช่าใช้ระยะสั้นจนกระทบต่อการเป็นเจ้าของ อาจจะมีรายการเช่าใช้รายชั่วโมง กลายเป็นบริการสตรีมมิ่งไป กรณีแบบนี้อาจจะทำแบบแอปเปิลที่ห้ามเปลี่ยนมือสั้นกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ควบคุมได้จากแพลตฟอร์มรวมศูนย์กลางเช่นเดียวกัน รวมถึงคุณสมบัติของ NFT ทุกวันนี้ เช่น เก็บค่า royalty บางส่วนจากการขายต่อ ก็เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมไปได้

 

PS5 Free Upgrade

New PS5 and PS4 System Software Betas Roll Out Tomorrow – PlayStation.Blog

ซื้อเกม PS4 ที่ได้อัพเกรด PS5 ฟรีมาสองเกม คือ Hades กับ Cyberpunk 2077 ปรากฏว่าเจอปัญหาเหมือนกันคือตัวอัพเกรดไม่ขึ้น ตัว Hades นั้นไม่ค่อยมีใครเจอปัญหาเพราะแผ่นมันล็อกโซน (region) แต่ Cyberpunk 2077 คนเจอปัญหาเหมือนกันเยอะมาก เพราะแผ่น PS4 มัน All Zone แต่ปรากฎว่าคนยุโรปไม่ได้อัพเกรดเพียบ

ปรากฎว่าใน PS5 มันไม่ล็อกโซนแล้ว ดังนั้นเราเลยเอาแผ่นอะไรมาเล่นก็ได้ แต่ตัวอัพเกรดฟรีจะอัพเกรดได้ต่อเมื่อแผ่นกับบัญชีของเราโซนตรงกันเท่านั้น! แต่ PS5 ไม่ได้เลือกโซนเครื่องจากฮาร์ดแวร์เครื่อง แต่ดูเฉพาะโซนบัญชีผู้ใช้เราอย่างเดียว และในแต่ละเครื่องเรามีได้หลายบัญชี

ในกรณีนี้เราสร้างบัญชีโดยเลือกประเทศที่เป็นโซนอื่น เช่น โซน 2 เลือก UK หรือ โซน 1 เลือก US ใส่แผ่น ล็อกอินด้วยบัญชีที่ตรงกับโซนแผ่น (สำหรับ Cyberpunk 2077 ให้เลือกโซน 1) แล้วจะดาวน์โหลดตัวอัพเกรด PS5 จากบัญชีตรงโซนได้

ที่น่าประหลาดใจคือพอดาวน์โหลดมาแล้ว บัญชีหลักของเรา (ที่โซนไม่ตรง) ก็ยังเล่นเวอร์ชั่น PS5 ได้ด้วย ดังนั้นเรายังเก็น Trophy ทั้งหลายไว้ในบัญชีเดียวกันได้ ถ้าในเครื่องเรามี 4 บัญชี ก็จะเล่นได้ทุกแผ่นที่มี free upgrade

 

Identity-Aware Proxy

ความปลอดภัยทางไซเบอร์, โทรศัพท์, การเข้าสู่ระบบ

IAP เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการเข้าใช้คลาวด์เป็นหลัก แต่จริงๆ ก็ใช้กับอย่างอื่นได้มาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแนวทางเลิกใช้ VPN (login ทีเดียวเข้าได้ทุกอย่าง) ไปเป็นการขอใช้งาน resource ทีละอย่าง แล้วยืนยันตัวตนทุก connection แทน

ตัวเลือกในกลุ่มนี้มีเยอะเหมือนกัน เอาเฉพาะที่ฟรี และเป็นโอเพนซอร์ส

  • Oauth2-proxy: (4.7k stars) โครงการเริ่มมาจาก bitly ตั้งแต่ปี 2014 ตอนนี้กลายเป็นโครงการชุมชนล้วนๆ แล้ว ค่อนข้างนิ่งมาก รองรับ OIDC แทบทุกเจ้า ชุมชนค่อนข้าง active ข้อจำกัดสำคัญคือรับ IdP อันเดียวเท่านั้น (มี plan รับหลายอันแต่ไม่คืบหน้า) ใช้ได้เฉพาะ HTTP เท่านั้น
  • Oathkeeper: (2.5k stars) คล้ายๆ กับ oauth2-proxy แต่ออกแบบให้ทำงานกับชุดซอฟต์แวร์ ORY เป็นชุดบริการ Identity ทั้งชุด ถ้าเอา Oauth2-proxy + Keycloak ก็น่าจะพอๆ กัน ความเจ๋งคือ rule engine ที่ซับซ้อนมาก แก้ URL ปรับนั่นเปลี่ยนนี่ได้เยอะ ความเจ๋งมาพร้อมกับความซับซ้อน ไปไม่ถูกเอาเหมือนกันว่าจะใช้ยังไง
  • Pomerium: (2.9k stars): ความเจ๋งที่สุดคือรับ TCP Connection ด้วย มี desktop app ให้ อันนี้เหมือนพวก Cloud IAP อย่าง AWS หรือ GCP เลย (หรือแม้แต่ enterprise on-prem อย่าง Duo)
  • Vouch: (1.7k stars) เป็น nginx module น่าสนใจดี ไม่เคยใช้
  • lua-resty-oidc: (721 stars) อันนี้เป็น pure lua ไปขี่บน nginx lua อีกที โมง่าย ได้พลังของ nginx มาทั้งก้อน
  • caddy-security: เคยใช้อยู่ที เดิมเคยแยกเป็นสองโมดูลคือ caddy-auth-jwt (เช็คว่า authen หรือยัง) กับ caddy-auth-portal สำหรับเป็น RP จาก provider ตัวอื่น จุดแข็งคือมันอยู่กับ Caddy บางฟีเจอร์อยากได้ caddy เช่นเว็บข้างใต้ดัน authen ด้วย NTLM ที่ nginx กลายเป็นโมดูลเก็บเงิน (มันใช้น้อย ใช้กับ enterprise app ส่วนใหญ่)

 

YouTube Premium

หลายคนน่าจะคุยกันบ่อยแล้วว่าในบรรดาบริการสตรีมมิ่งที่สมัครๆ กัน เอาเข้าจริงแล้วอันที่คุ้มที่สุดคงเป็น YouTube Premium อาจจะเพราะความได้เปรียบที่เจ้าของคอนเทนต์เป็นคนเอาคอนเทนต์มาลงเอง แทนที่จะต้องไล่เซ็นสัญญาแบบคนอื่น

ในบรรดาช่องที่ชอบดู ลองรวมๆ เอาไว้ตรงนี้

  • DW Documentary: ช่องทีวีสาธารณะของเยอรมัน เจอช่องนี้เพราะสารคดีเกาหลีเหนือแต่จริงๆ มีรายการดีๆ เยอะมาก (ตอนที่เกี่ยวกับไทย เช่น คนเก็บเบอรี่ในสวีเดน หรือสวนยาง) ช่องที่แนะนำในตระกูล DW นี่ดีๆ หลายช่อง DW News นี่มาตรฐาน DW Planet A เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว
  • CNBC: วิดีโอสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ทำดีมาก รูปแบบ bullet ผสมกับการบรรยาย มีที่มาที่ไป สั้น กระชับ ไว้เจอเรื่องน่าสนใจไปอ่านต่อได้
  • CNA Insider: ทีวีของสิงคโปร์ ไม่เชิงช่องสาธารณะ น่าจะประมาณรัฐวิสาหกิจ โปรดักชั้นไม่ดีเท่าช่องทางตะวันตก แต่ประเด็นทางเอเชียเยอะกว่า เช่น เรื่องสังคมไทย

รายการอื่นๆ เช่น Bloomberg QuickTake, FRONTLINE