lock down

ห้องที่ผมทำงานเป็นห้องควบคุมของอาคาร อำนาจการสั่งการค่อนข้างเยอะ เนื่องจากประตูแต่ละชั้นเป็นอิเลกทรอนิกส์ทั้งหมด โดยผมสามารถสั่งเปิดประตูของแต่ละชั้นจากห้องทำงานของผมได้โดยตรง รวมถึงดูการใช้งานจากกล้องวงจรปิดได้ตลอดเวลา

แล้วเมื่อวานก็เกิดเรื่อง

พอดีมีเจ้าหน้าที่จะมาติดตั้งอุปกรณ์ในห้องเพิ่ม เลยต้องไปเปิดห้องพร้อมกับเพิ่มสิทธิในการเข้าใช้งานไปด้วยเพราะต้องเข้ามาทำต่ออีกหลายครั้ง เลยต้องไป add ที่เครื่องอ่านลายนิ้วมือหน้าห้อง ตอน add ก็ปรกติดี แต่พอเข้าห้องมาแล้ว ปรากฏว่าเครื่องอ่านมันดันค้างไปเรียบร้อย

ปัญหาคือผมอยู่ในห้อง

เมื่อเครื่องไม่ตอบสนอง นั่นหมายถึงสวิตซ์เปิดประตูก็ไม่ทำงานไปด้วย ตรวจดูสถานะจาก server ก็ไม่ตอบสนองไปแล้ว ปัญหาคือเจ้าเครื่องที่ว่านี่มันไม่มีปุ่มปิด และไม่มีปุ่มรีเซ็ต ผมเลยโดนขังอยู่ในห้องควบคุมไปโดยปริยาย การปิดไฟก็ไม่มีผลเนื่องจากเครื่องนี้มีระบบสำรองไฟในตัวเอง

สุดท้ายทางออกคือหากล่องสำรองไฟ ซึ่งอยู่ในห้องผมเองนั่นแหละ แล้วจัดการเอาไขควงถอดแบตออก

ได้ออกจากห้องในที่สุด….

 

Office ในฝัน

มานั่งเพ้อกันดีกว่าว่าที่ทำงานที่ดีควรเป็นยังไงกันบ้าง

เมื่อสักสองปีก่อนออฟฟิศที่ได้รับการพูดถึงกันมากๆ คือ GooglePlex ที่ถูกสร้างภาพจนชวนฝัน แต่นั่นหมายถึงเงินจำนวนมหาศาลที่ลงไป  เพราะเป็นกูเกิลเลยทำได้ในกรณีนั้น

ผมมุมมองของผม บริษัทแบบไทยๆ ที่ไม่รวยเท่ากูเกิล ก็สามารถทำออฟฟิศให้น่าทำงานได้เหมือนกัน ปัญหาคือ mind set ของผู้บริหารที่อยากให้พนักงานสบายใจกับการทำงาน หรืออยากเห็นภาพพนักงานดูขยันเอาจริงเอาจัง (จริงรึเปล่าอีกเรื่อง)

เริ่มเลยแล้วกัน

  1. คาราโอเกะ แม้ผมจะไม่ได้ชอบเท่าใหร่  แต่ผมว่าออฟฟิศเมืองไทยถ้ามีคาราโอเกะติดไว้ให้พนักงานใช้ฟรีก็ไม่น่าจะแพงมาก และได้ประโยชน์กันเยอะ
  2. ขนม ไม่ต้องถึงขั้นแจกฟรีแบบไมโครซอฟท์หรือกูเกิล แค่มีตู้เย็นขายชาเขียวในราคาทุนให้พนักงานผมว่าก็โอเคในระดับนึงแล้ว
  3. เตียงนอน อันนี้ดูแปลกๆ แต่หลายๆ ประเทศมีช่วงเวลาให้นอนตอนบ่ายด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในช่วงบ่าย มีเตียงพับแบบไม่ต้องแพงมากให้พนักงานบ้างก็น่าจะโอเค
  4. เก้าอี้ ขอทีว่าขอซื้อแบบดีๆ หน่อย เก้าอี้เป็นสิ่งที่พนักงานต้องอยู่กับมันทั้งวัน ลงทุนกับเก้าอี้ดีๆ แล้วโต๊ะเป็นโต๊ะโรงอาหารไปก็น่าจะยังดีกว่าโต๊ะดูดีแล้วเก้าอี้ไม่ได้เรื่อง
  5. ถ้าทำงานคอม ขอจอใหญ่ๆ พื้นที่จอภาพมีผลตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน สมัยนี้จอภาพก็ไม่ได้แพงอะไรมากมายเงินเดือนสักครึ่งค่อนเดือนของพนักงานก็น่าจะได้จอใหญ่มากๆ แล้ว
  6. น้ำดื่ม ไม่รู้มีใครเหมือนผมรึเปล่า แต่ปรกติเวลาเขียนโปรแกรมจะกินน้ำเยอะมาก การที่น้ำดื่มอยู่ไกล ต้องไปกด ไม่มีเหยือกให้ต้องไปเอาทีละแก้ว ฯลฯ พวกนี้ลดประสิทธิภาพการทำงานลงไปเยอะมาก

ว่าแล้วก็กลับไปนั่งทำงานในห้องเย็นๆ ต่อไป….

 

day-0

ช่วงนี้กำลังเริ่มต้นอะไรหลายๆ อย่าง เรื่องที่เจออย่างหนึ่งคือคำว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” นี่เอาเข้าจริงแล้วดูจะไม่จริงเท่าใหร่

เพราะจุดเริ่มต้นหลายๆ ครั้งมันสำคัญมากกว่าครึ่งเสียอีก…..

ผมเคยทำงานซัพพอร์ตให้กับโปรแกรมตรวจสอบคุณภาพซอร์สโปรแกรมภาษา C/C++ อยู้ตัวหนึ่ง ขณะที่ลองๆ ใช้ไปเองนั้นก็พบว่าโปรแกรมมีความสามารถในระดับที่ใกล้เคียงคำว่าอัศจรรย์ ด้วยการตรวจสอบที่ละเอียดยิบ ทำให้ข้อบกพร่องที่เคยนึกกันไม่ออก เปิดตำราหากันสามสี่วันสามารถเจอได้ในเวลาสิบนาที พร้อมแนะนำวิธีแก้ไข

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อนำโปรแกรมที่ว่าไปตรวจโค้ดของโปรแกรมที่ทำงานอยู่แล้ว พบว่าข้อพกพร่องปลีกย่อยนั้นมีจำนวนมหาศาลจนไม่อาจจะแก้ไขให้หมดไปได้ หากต้องการส่งงานให้ทันเวลา คำพูดหนึ่งลอยมาจากทีมงานในตอนนั้นทันทีว่า “ถ้าใช้ตั้งแต่แรก…”

แน่นอนการใช้งานตั้งแต่แรกจะลดความผิดพลาด ปัญหา และเพิ่มคุณภาพงานได้อย่างมหาศาล ขณะที่การใช้งานหลังจากนั้นกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง

ในวันนี้ที่อะไรอีกหลายๆ อย่างกำลังเริ่ม ถ้าหยุดคิดให้ดีๆ ก่อนที่จะเดินหน้าไปอย่างรีบเร่ง

น่าจะมีคุณค่ากับชีวิตมากทีเดียว

 

เงื่อนไข

ถ้าใครอ่านโคนัน (ซึ่งผมเลิกอ่านไปแล้ว) จะพบคดีสุดคลาสสิคคือคดีห้องปิดตาย  ที่เป็นการสร้างพื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าออกได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ

คดีห้องปิดตายเป็นรูปแบบหนึ่งของเทคนิคการเขียนนิยายที่สร้างเงื่อนไขที่จำกัด เพื่อชวนให้ผู้อ่านสามารถคิดตามไปด้วยได้เสมอ เพราะเราสามารถตัดตัวแปรอื่นๆ ที่ผู้เขียนบอกไว้อย่างชัดแจ้งว่าไม่ต้องคิด เช่น กุญแจรุ่นพิเศษไม่มีกุญแจผีแถมปั๊มไม่ได้ (รุ่นไหนว่ะ จะซื้อไปขายธนาคาร) หรือจะเป็นกำแพงหนามาก ฯลฯ

กลับมาในโลกความเป็นจริง การที่เราจำกัดความคิดของเราไว้เพียงแค่นั้นโดยมากแล้วเพื่อผลประโยชน์หลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรที่คนสร้างสรรจะไม่ถูกกำหนดด้วยตัวแปรจำนวนมากเกินไป เช่น ในแง่ของงานวิจัยนั้น แทบทั้งหมดต้องอาศัยการกำหนดเงื่อนไขยาวเป็นหางว่าวเพื่อระบุว่าเทคนิคอะไรบางอย่างนั้นดี แล้วปล่อยให้งานวิจัยชิ้นต่อๆ มาสามารถเรางานเดิมไปทดลองได้ว่างานนั้นดีกับกรณีอื่นๆ ด้วยหรือไม่

ที่ร้ายคือหลายๆ ครั้งแล้วเราคิดไปเองว่าเงื่อนไขในโลกความเป็นจริงนั้นจะตรงกับเงื่อนไขของโลกจำลอง ความคิดแบบนี้ทำให้กระบวนการตัดสินใจบิดเบี้ยวไปจากที่มันควรจะเป็น

เรื่องพวกนี้ในโลกความเป็นจริงมีอยู่เป็นจำนวนมาก เรื่องที่ผมเห็นจากการทำงานคือ การที่นายจ้างคิดว่าลูกจ้างจะไม่บอกเงินเดือนกันเอง  ซึ่งไม่เป็นจริงอย่างรุนแรงในสังคมกันเองๆ แบบไทยๆ

ที่น่าสนใจคือหลายๆ ครั้งการไม่สนใจตัวแปรบางตัวก็ได้ผลดีมากในหลายๆ กรณี  แม้ว่าความคิดเริ่มต้นจะไม่จริง แต่การไม่สนใจตัวแปรเหล่านั้นกลับช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรได้มากขึ้น และผลลัพธ์ยังคงถูกต้องดี

นักบริหารที่เก่งคงเป็นคนอีกกลุ่มที่เลือกไม่สนใจบางเรื่องได้เป็นอย่างดี