We Met

แค่คิดถึงความเป็นไปได้แบบหนึ่งขึ้นมาในโลก Social Network คือการ “เจอ” กันของคนกลุ่มต่างๆ แล้ว add social network เข้าหากัน

ปัญหาคือพอเราเจอหน้ากัน คุยกันครั้งเดียวถูกคอ อาจจะอยากกด add โดยง่าย แต่พอตามกันไป เรื่องราวไม่ตรงกัน กลายเป็น list ที่ leak ไม่อยากให้คนเหล่านี้มาเห็นข้อมูลของเรามากเกินไป

มันน่าจะมี API อะไรบางอย่างที่บอกได้ว่าเรา Add ใครใน Social Network เพราะเหตุการณ์แบบนี้ และเมือมันเป็นเหตุการณ์แบบนี้ โปรแกรมที่ิติดตามจะดูว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนนั้นจริงหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ถอดออกเมื่อเลยเวลาที่กำหนด

แล้วเราก็จากกันไป

 

ราคาแห่งความจน

วันนี้ไปเดินหาอะไรกินในซุปเปอร์แถวบ้าน…

เจอแชมพูลดราคาอย่างหนัก ขวดขนาดหนึ่งลิตร ลดราคาอย่างไรเหตุผล เพราะมันถูกกว่าขวด 700cc. ที่วางอยู่ข้างๆ เสียอีก ผมซื้อมาหนึ่งขวด ทั้งที่ที่บ้านยังมีใช้ไปได้อีกอย่างน้อยสองเดือน

ที่บ้านผมเองมีของที่ต้องใช้เป็นประจำเหล่านี้สะสมในระดับที่ใช้งานได้เกินสามเดือนข้างหน้าเสมอๆ ทุกชิ้นล้วนซื้อมาในช่วงที่ค่อนข้างแน่ใจว่าได้ราคาต่ำสุด หลายชิ้นต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในตลาดมากกว่าครึ่ง

เมื่อกลับมามองดูต้นทุนการดำรงค์ชีวิตพื้นฐานของผมแล้ว ผมพบว่ารายจ่ายเฉลี่ยสำหรับของพวกนี้ของผมถูกมาก

ผมทำเช่นนี้ได้เพราะมีทุนเพียงพอที่จะบอกว่าการซื้อล่วงหน้าเป็นเวลานาน

ผมนึกถึงสัมภาษณ์นักธุรกิจคนหนึ่ง เขาบอกว่าการทำธุรกิจกับกลุ่มรายได้ต่ำคือการแบ่งขายในขนาดเล็ก แม้จะขายราคาต่อหน่วยแพงขึ้นก็ตาม

แชมพูขวดหนึ่งอาจจะใช้ได้ต่อเนื่องสามเดือนเต็ม ในราคาไม่ถึงร้อย แต่คนรายได้น้อยกลับต้องจ่ายวันละ 5 บาทเพื่อใช้มัน

ความจนอาจจะไม่ได้เกิดจากความพยายามสิ้นเปลืองไปทั้งหมดเสียทีเดียว ความจนอาจจะเกิดจากความไม่มี

เราอาจจะรู้สึกว่าคนจนนั้นโง่ที่ได้เงินมาแล้วไปซื้อมอเตอร์ไซต์ นั้นเป็นเพราะเราอยู่ในเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนซับซ้อนและครอบคลุม

เราอาจจะไม่คิดอย่างนั้น ถ้าทุกครั้งที่เราต้องการเข้าตัวจังหวัด มันหมายถึงการเหมารถกระบะในหมู่บ้านออกไปครั้งละ 300 บาท การสิ้นเปลืองกับสิ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยกลายเป็นเรื่องสมเหตุสมผลในทันที

ผมมองขวดแชมพูแล้วแอบคิดในใจ ว่าถ้าคนที่ต้องซื้อซองละห้าบาท เขาสามารถซื้อแชมพูขวดนี้ไปแล้วค่อยๆ จ่ายตามราคาพร้อมดอกเบี้ยได้

ชิวิตเขาคงดีขึ้นไม่น้อย

 

ATM #2

จบเรื่องหนังไปแล้ว กลับมาเรื่องความคิดอีกที

  • หนังสะท้อนค่านิยมของไทยโดยรวมๆ สาวไทยต้องแต่งงานก่อน 30
  • ที่จริงแล้วสังคมยุคใหม่คงไม่ได้สนใจเรื่องแต่งงานก่อน 30 กันจริงๆ แล้ว แต่มันสะท้อนมาจากค่านิยม แต่งงานคือมีลูก น่าสนใจมากว่าค่านิยมแบบนี้กำลังกดดันให้สาวๆ ในเมืองกรุงเลือกที่จะ “ไม่แต่งแม่งเลย” (อ่านจาก economist)
  • เส้น 30 คือ barrier ของสังคมที่กำลัง crash กันระหว่างรุ่น รุ่นใหม่: การมีลูกเป็น optional, ทำงานทั้งสองคน, ดูแลกันและกัน ไม่ใช่ให้ใครเอาใจใคร กับ รุ่นก่อนหน้า: ต้องมีลูก (ซิ), คนนึงหาเลี้ยง อีกคนดูแลบ้าน, ชั้นทำให้ลูกชายชั้นมาอย่างดี เธอมาก็ต้องทำได้เท่ากัน
  • การ crash กันแบบนี้สะท้อนออกมาในหนังอีกหลายต่อหลายเรื่อง ไอ้ประเภท 30+ ทั้งหลายนั่นล่ะ
  • ไอ้ที่ว่า crash กันนี่บางทีก็อยู่ในคนๆ เดียว อย่าแปลกใจถ้าแฟนหนุ่มบางคนงงๆ ว่าจะวางตัวยังไงกับแฟนดี จะให้ทำงานด้วยกันดีมั๊ย หรือจะให้อยู่บ้าน หรือที่บ้านจะว่ายังไง ภาวะงงๆ นี่ก็ออกมาในหนังอีกเหมือนกัน (งงสองต่อเพราะผู้หญิงเงินเดือนดีกว่า ทำลายกำแพงด้านเศรษฐกิจของครอบครัวไปอีก)
  • เรื่องงาน จริงๆ หลายคนคงมีปัญหาการคบกันในที่ทำงานอยู่แล้วจริงๆ ค่านิยมคนเมืองจำนวนมากกลัวการคบกับเพื่อนร่วมงาน ตัวหนังก็แค่เอามาขยายให้เว่อๆ
  • เด็กฝึกงาน… อันนี้ถ้ากลับเพศเคยเจอ เคสแบบในหนังนี่ยังไม่เคยเจอ
 

ทางง่าย

เวลาที่เรามองปัจจุบัน มันยากที่เราจะมองมันด้วยความชื่นชม

ความทุกข์ ความเลวร้าย และเรื่องแย่ๆ ที่อยู่ตรงหน้า มันเต็มไปด้วยเรื่องที่เราไม่รู้จะทำยังไงให้เรามีความสุขกับมัน

แต่กับเวลาที่เรามองอดีต เรื่องราวมันง่ายกว่านั้นมากนัก แม้แต่ช่วงเวลาที่แย่ที่สุด เราก็ยังมองด้วยความสุข สามารถเห็นด้านดีๆ ของช่วงเวลาที่เลวร้ายนั้นได้ไม่ยาก

เรามองย้อนกลับไปแล้วยิ้มกับมัน และบึ้งตึงทุกครั้งเมื่อมองสิ่งตรงหน้า

 

เรื่องที่ยากอย่างหนึ่งในชีวิตคงเป็นการตระหนักว่าสิ่งตรงหน้าเราดีอย่างไร มันอาจจะไม่สมบูรณ์เหมือนที่เราเคยฝันไว้ในจินตนาการ แต่เมื่อเรามองด้วยความเป็นจริง เราอาจจะพบว่าตรงหน้านั้นก็มีเรื่องดีๆ อยู่มากมาย

แน่นอนในนาทีที่ยาก เรามองเทียบตรงหน้ากับอดีต และเห็นแต่ด้านแย่ ขณะที่เราโหยหาอดีตอันแสนหวาน

เราจะทิ้งสิ่งตรงหน้านี้ไปเลยไหม?

มันง่ายที่จะทิ้งอะไรสักอย่างไป ง่ายกว่าที่เราจะกลับมานั่งคิดดีๆ ว่าเราจะมีความสุขกับการไม่มีมันจริงๆ รึเปล่า

 

เราอาจจะเลือกทางง่ายไปเรื่อยๆ เมื่อไม่พอใจอะไรสักอย่างก็ทิ้งมันไป แล้วก็เดินทางใหม่ แล้วพบกับช่วงเวลาที่เราไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมที่ผ่านมาเราจึงเจอแต่สิ่งที่แย่ลง

จนถึงวันหนึ่งที่เราอยากจะย้อนกลับไป ก็ไม่มีที่ให้กลับไปเสียแล้ว

 

บางทีลองมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราอีกที แล้วค่อยๆ คิดว่าเราอยากจะทิ้งมันไปกลับไปหาสิ่งเดิมที่เราเคยประสบรึเปล่า

 

หลายครั้งอาจจะได้คำตอบที่เปลี่ยนการกระทำของเราเอง