1st Step

จนวันนี้แล้ว blognone ก็ยังเป็น Drupal 5.x อยู่ เนื่องจากผมขี้เกียจอัพ แถมไม่เห็นประเด็นที่ต้องอัพจริงๆ จังๆ นัก

แต่ช่วงหลังมีไอเดียกระฉูดเรื่องฟีเจอร์ใหม่แล้วปรากฏว่า DP5 มันไม่มีอะไรซัพพอร์ตเลย ขณะที่ DP6 มี API ให้บริการเพียบ

ตกลงปลงใจได้ว่าต้องย้ายแล้ว

แต่อยู่ๆ ไปกดตูม upgrade มันก็เจ๊งกันซะเท่านั้น เลยจะทำ beta tesing กันก่อน (เดี๋ยวคงเปิดให้เข้ามาลองกัน) ปรากฏว่า

  1. Blognone เป็นเว็บที่ใหญ่มาก ข้อมูลทั้งหมด zip แล้วยัง 1.3GB พื้นที่จริงประมาณ 2.7GB
  2. โหลดกลับเครื่องใช้เวลา 3 ชั่วโมง
  3. นั่งคิดวิธี upload อีกพักใหญ่
  4. สุดท้าย @rtsp มาบอกว่าใช้เครื่องที่ ม. remote โหลดเอาน่าจะเวิร์คกว่า
  5. ปัญหาคือ plesk มันต้องโหลดผ่าน URL ประหลาดๆ เลยจะเปิด firefox
  6. ตั้ง X11 ให้ทำ ForwardX11 ทำงานได้ดีไม่มีปัญหา
  7. แต่พอเปิด firefox แล้วกลายเป็น local firefox???
  8. สรุปว่า firefox มันดัก signal ของ x11 เอาไว้ แล้วมันแยกไม่ออกระหว่าง remote กับ local
  9. เปิด firefox -no-remote เป็นอันเสร็จพิธี

ยังไม่ได้งานอะไรเลย นอนแล้ว…

 

Oh My Intrepid

หลังจากส่ง Paper ฉบับแรกไปที่ ECTI-CON ได้ ก็ทำตามสัญญากับตัวเองว่าจะลงลินุกซ์ใหม่เป็น Intrepid Ibex

พบว่ามันเวิร์คมาก อย่างไม่น่าเชื่อ

– ซาวน์การ์ดที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับผมมาตั้งแต่สมัย 6.06 นี่เป็นเวอร์ชั่นแรกที่ผมลงแล้วเสียงออกครบทั้งหมด ทั้งหูฟังและลำโพง แถมเสียบหูฟังแล้วลำโพงเงียบ jacksense ที่มีปัญหามาหลายปีก็ทำงานเรียบร้อยดี
– เท่าที่ลองพบว่าไมโครโฟนยังมีปัญหาอยู่ อาจจะต้องลุยอีกหน่อย แต่เนื่องจากไม่ได้ใช้ ก็อาจจะยาว
– การ์ดจอเวิร์คเป็นปรกติ มีปัญหาเรื่องของ Compiz ที่ทำงานประหลาดเวลามีสองจอ ก็ปิดไปได้ เพราะ compiz ผมใช้อย่างเดียวคือ Negative เวลาอ่านหนังสือ
– มีปัญหาอีกเรื่องคือมันดันไม่รู้ว่าตัวเองแสดงผลแบบ full HD ได้ ก็ใช้ cvt สร้าง modeline แล้วใช้ xrandr ยิงโหมดใหม่เข้าไป ก็ใช้งานได้ดี คำถามตอนทำคือทำไมมันไม่รวม cvt เข้าไปกับ xrandr จบเรื่อง
– เปลี่ยนจาก VMWare มาใช้ VirtualBox แทน เพื่อความสบายใจแห่งวิถีโอเพนซอร์ส (ที่จริงขี้เกียจเพิ่ม repos) พบว่าทำงานได้ดี ความเร็วไม่ได้ต่างกัน
– เนื่องจาก twitterfox มีปัญหากับ multiple desktop ของลินุกซ์ (มันจะดึงหน้าจอให้อยู่อันแรกเสมอ) เลยเปลี่ยนมาใช้ mbpidgin แทน ถ้าไม่นับว่า retweet ยากแล้ว ที่เหลือก็ไม่มีอะไร
– อ่อ ผมลง OO.o3 ใน Gutsy งานนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะลงใน Intrepid ด้วยดีไหม?

 

VPS over Physical Disk?

ช่วงนี้กำลังคิดมากเรื่อง manageability ของเซิร์ฟเวอร์

ประเด็นหนึ่งที่น่าจะทำให้คือการอาศัย Virtual Machine เข้ามาแทนที่ IP KVM ด้วยการใช้ลินุกซ์ตัวเล็กๆ เข้าไปในเครื่องก่อน แล้วให้ตัว Virtual Machine ครอบครองทุกอย่าง นับแต่ HDD, GPU, CPU, LAN ฯลฯ โดยตัว Host ซึ่งเป็นเพียง OS เล็กๆ อาจจะเป็นลินุกซ์แบบย่อส่วนนั้น ฝังตัวอยู่ภายใน ทำหน้าที่คอยดูแลระบบว่าอยู่ดีหรือไม่

ข้อดีของเรื่องนี้ประการหลักเลยคือ IP KVM นั้นราคาแพงมาก การใช้ระบบอย่างนี้จะช่วยให้เราสามารถดึงหน้าจอ, mouse และ keyboard กลับมาได้ในเวลาที่เราต้องการ แถมสั่ง reboot เครื่องได้อีก

ข้อเสียหลักๆ คือเรื่องของ Performance ที่แรมจะถูกกันไปส่วนหนึ่งเพื่อจ่ายให้กับ host (คล้ายการ์ดจอแบบแชร์แรม) รวมซีพียู

คำถามหลักเลยคือการทำเช่นนี้เรากำลังจ่ายประสิทธิภาพออกไปแค่ไหนกัน ส่วนตัวซีพียูนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใหร่ แต่จะมีประเด็นเรื่องของดิสก์ที่มีปัญหากันมานานแล้วว่า ดิสก์ใน VM นั้นทำงานช้ากว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ถ้าใช้ Physical Disk แล้วมันเนียน นี่อาจจะเป็นคำตอบของหลายๆ คำถาม

 

ด้วยรักและอูบุนตู

สองปีกว่าแล้วที่ผมตัดสินใจหักดิบตัวเองเลิกใช้วินโดวส์เด็ดขาด แล้วลุยอูบุนตูอยู่นานหลายเดือนกว่าอะไรๆ จะเข้าที่เข้าทาง

ผมรู้สึกสนุก และได้เห็นเส้นทางแห่งเสรีภาพ

มันอาจจะไม่สวยหรูนัก แต่มันมีเสรีภาพให้เราเดินไป ความสนุกในการดึงซอร์ส ใส่แพตซ์ เพื่อแก้ปัญหาที่ครั้งหนึ่งผมเคยได้แต่ภาวนาว่าผู้ผลิตจะหันมาสนใจผมบ้าง วันนี้ผมอาจจะเหนื่อยกับมันสักหน่อย ลองถูกลองผิดกับมันซักวัน แล้วท่องไว้ว่า “ทุกอย่างแก้ไขได้” ทางออกมันอยู่ตรงนั้นเสมอ ไม่ว่ามันอาจจะใกล้หรือไกลไปสักหน่อย

แต่วันนี้ขอผมบ่นบ้างแล้วกัน

ตั้งแต่อูบุนตู 6.06 เป็นต้นมา ผมเห็นแสงรำไรว่าวันหนึ่งผมจะสามารถบอกให้คนรอบข้างที่ใช้คอมพิวเตอร์อยู่คนเดียว ดูหนัง เข้าเว็บ เล่น M หันมาใช้ลินุกซ์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

6.06 เป็น LTS รุ่นแรกของอูบุนตู มันทำได้ดีมากในแง่ว่าก่อนหน้านี้การลงลินุกซ์ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ผมพบกับความแปลกใจเมื่อการลงลินุกซ์ครั้งแรกแล้วผมใช้ไวร์เลสในเครื่องได้ทันที แน่นอนว่าหน้าจอมีปัญหาบ้าง เสียงอาจจะไม่สมบูรณ์ แต่ด้วยพลังแห่งอินเทอร์เน็ต “ทุกอย่างแก้ไขได้”

6.10 แสดงความพัฒนาที่ต่อเนื่อง 7.04 เช่นเดียวกันคือไม่มีอะไรโดดเด่นเท่าใหร่ แต่แสดงการพัฒนาที่เริ่ม “เกือบๆ แล้ว”

ผมพิมพ์บล็อคนี้บนอูบุนตู 7.10 Gutsy Gibbon อูบุนตูรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา มันเสถียรมากอย่างไม่น่าเชื่อ ฟีเจอร์ที่เต็มเปี่ยม ทุกอย่างดูดีมาก

ผมเชื่ออย่างเต็มที่ว่าอูบุนตู 8.04 จะเป็นรุ่น 1.0 สำหรับผม มันจะเป็นรุ่น LTS รุ่นที่สองที่ได้รับการแก้ไขข้อผิดพลาดจากรุ่นแรกไปจนหมด มันจะเข้ากันได้มากกว่าเดิม

อาจจะดูเหมือนผมหวังมาก แต่เอาเข้าจริงแล้วทั้งหมดที่ผมต้องการคงเป็นแค่รุ่นปรับปรุงของ 7.10 ที่เสถียรกว่าให้พร้อมสำหรับการเป็น LTS เท่านั้นเอง

แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในระบบการจัดการของอูบุนตู 8.04 นับเป็นรุ่นที่แย่ที่สุดรุ่นหนึ่งนับแต่ 6.06 การเขียน Driver Manager (jockey-gtk) ใหม่และดึงดันจะใส่ให้ทันทั้งที่ก่อนหน้าวันออกตัวจริงเพียงไม่กี่สัปดาห์มันยังอิมพลีเมนต์ฟีเจอร์กันไม่ครบ ไม่ต้องพูดถึงการทดสอบในวงกว้าง

การอัพเดตเคอร์เนลที่ดูเหมือนจะเป็นจุดบอดที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ผู้ใช้ต้องประสบกับความจริงที่ว่าอัพเดตที่อูบุนตูบอกพวกเขาว่ามันจะช่วยรักษาความปลอดภัย, เพิ่มเสถียรภาพ, และแก้ปัญหาของซอฟต์แวร์ กลับทำให้ USB ใช้งานไม่ได้, เสียงไม่ออก, VMWare หยุดทำงาน, หน้าจอทำงานผิดพลาด และอีกสารพัดที่ผมไม่เชื่อว่าจะมีผู้ใช้คนใดๆ ในโลกคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจากการ “อัพเดต”

ปัญหาแบบนี้เหมือนเป็นคำสาป ทุกครั้งที่เราจะกดอัพเดต สิ่งที่เกิดขึ้นคือการภาวนาว่าเครื่องของเราจะอยู่รอดปลอดภัย

ไม่เว้นแม้แต่รุ่น 8.04.1 “LTS”

คุณคิดจะไม่อัพเดตหรือ? ข่าวร้ายคือถ้าคุณไม่อัพเดตไปถึงวันหนึ่ง คุณจะพบว่าเครื่องที่ทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพของคุณไม่สามมารถลงโปรแกรมใหม่ได้ แม้มันจะเป็นโปรแกรมที่เล็กที่สุดก็ตามที Dependency จะวิ่งตามมาเป็นพรวน และหลอกหลอนคุณได้อัพเดตมันในที่สุด

แผนการเล่นอูบุนตูครั้งต่อไปของผม

ติดตั้งใหม่ > ลงโปรแกรมให้ครบที่สุดเท่าที่จะครบได้ > ทดสอบ > แก้ปัญหา > Sync Pool มาเก็บไว้ใน USB HDD ซะ

แล้วใช้งานมันอย่างสงบไปอีกสักครึ่งค่อนปี แล้วค่อยเริ่มต้นวัฐจักรใหม่อีกรั้ง