โปรยาว

ผมเป็นคนหนึ่งที่รำคาญกับระบบโทรศัพท์มือถือบ้านเราที่เปลี่ยนโปรมันหกเดือนครั้ง

ถูกมั่ง แพงมั่ง วันมากบ้าง น้อยบ้าง เบอร์หายไปเลยบ้าง

แต่มันจะเปลี่ยนอะไรกันบ่อยนักหนา (ว่ะ)

ใครมีอำนาจในการสร้างโปรโมชั่นมือถือ ขอโปรนี้เลยครับ

โปรยาว

  • ไม่ต้องถูก ราคาโอเค เท่ากันทุกเบอร์ทั่วไป
  • รับประกันโปรเดียวห้าปีรวด ไร้โอเปอร์เรเตอร์มาถามว่าจะเปลี่ยนเบอร์ไหม
  • สมัครแม้วอะไรไม่ได้เลย ไม่ต้องมี รับสาย กับโทรออกได้ จบ
  • ปิดบริการ SMS, MMS, GPRS และบริการเสียตังค์ทุกอย่างได้ ผ่านทางการเดินเอกสาร

เชื่อเถอะว่าคนสูงอายุกำลังต้องการใช้เทคโนโลยี พวกเขาจำนวนมากไม่ใช้งานกระทั่ง phonebook หลายคนยังพอสมุดจดเบอร์โทรศัพท์

คุณอยากทำโปรพิศดาร 3000 รูปแบบก็ได้ ถ้ามันมีทางเลือกที่เข้าท่าให้กับคนกลุ่มนี้

 

My Opinions on Global Warming

วันนี้นั่งถกกับ @udomsak และ @untsamphan ถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมแล้วอยากรวบยอดความคิดไว้อีกที

บทสรุป: ผมเบื่อแฟชั่นรักษ์โลกตอนนี้ ผมว่ามันขาดความจริงใจ ขาดการให้ความรู้พื้นฐาน และอาจจะไร้ประโยชน์

เอาล่ะ มาลงรายละเอียดกัน

ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ผมกลับมาครั้งนี้หลังจากอ่านหนังสือของ Micheal Crichton ผู้เขียน Jurassic Park (อ่านเล่มแรก) และเพิ่งอ่านจบเล่มที่สองคือ State of Fear

ตอนผมอ่าน Jurassic Park นั้นก็สัมผัสได้ว่า Crichton นั้นไม่ชอบนักอนุรักษณ์ สิบสี่ปีต่อมา State of Fear นั้นแสดงถึงช่วง “ต่อแตก” หนังสือหน้า 700 หน้าอุทิศให้การ “กินโต๊ะ” นักอนุรักษณ์อย่างเต็มอิ่ม ที่น่าสนุกคือ Crichton นั้นเป็นนักค้นคว้า ขณะที่ Al Gore มีสไลด์สวยๆ บอกว่างานวิจัยเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับ Global Warming แต่ Crichton ยกข้อมูล, กราฟ, และคำพูดในงานตีพิมพ์มาซัดจนเฝือ

Al Gore อ้างว่างานวิจัยนับพันเห็นด้วยกับ Global Warming แต่เอาจริงๆ ผมเชื่อว่า Gore อ่านไม่ถึงร้อยแน่ (ถึงสิบรึเปล่ายังน่าสงสัย)

Crichton นั้นสุดโต่งมาก คือพยายามชี้ให้เห็นว่า Global Warming นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรสนใจ แต่ให้ไปสนใจความยากจน น้ำดื่ม ฯลฯ น่าจะดีกว่า ซึ่งผมไม่เห็นด้วยนัก เพราะ

– โลกอายุ 4,500 ล้านปี มีภาวะที่เหมาะกับมนุษย์ (ที่จะสร้างอารยธรรมได้) มาประมาณ 20,000 ปี บางมาก
– การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเพราะเรา หรือเพราะธรรมชาติ อาจพาไปสู่ความซวยว่าโลกไม่เหมาะกับเราอีกต่อไป (แม้มันอาจจะตรงกันข้ามก็เถอะ) แต่ผมไม่อยากเล่นหวยเท่าใหร่กับงานนี้

ดังนั้นไม่ว่าโลกจะร้อนเพราะอะไร ถ้าเราทำอะไรสักอย่างได้ ให้มันร้อนช้าลงอีกหน่อย ผมก็เห็นด้วยที่จะทำ

แต่สภาวะตอนนี้ โลกร้อนบ้านเราเริ่มกลายเป็นศาสนา และการช่วยโลกร้อนกำลังกลายเป็นการล่าแม่มด ที่อยู่ดีๆ พลาสติก โฟม และวัสดุสังเคราะห์หลายอย่างก็กลายเป็นความบาปที่ให้อภัยไม่ได้ ภาพน่าเกลียดกองขยะพะเนินจำนวนมากถูกฉายซ้ำไปมาเพื่อบอกว่ามันแย่เพียงไหน

มันแย่ และผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องโกหก

เรื่องโกหกคือการเสนอทางออกที่ง่ายจนทุกคนทึ่ง เพียงแค่เลิกใช้โฟม แล้วมาใช้ถุงผ้า, ถุงกระดาษ

แล้วภาพก็ตัดไป มีป่าไม้ นกบินไปมา ช้าง ม้า แรด กวาง เก้ง กระทิง ยืนติดกันไม่สองสองเซนติเมตรโดยไม่กัดกันแม้แต่น้อย

ง่ายดีนะครับ ทำไมเราต้องกลัวโลกร้อนกันล่ะอย่างนั้น????

ภาพที่ถูกฉายซ้ำไปมาเหล่านี้ ไม่เคยฉุกให้คนรับชมตั้งคำถาม มันเสนอปัญหา และบอกทางออกให้ราวกับอุโมงล้างรถด้วยเครื่อง

– ไม่มีใครนึกออก ว่ากระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี่เบียดเบียนพื้นที่ป่าไปปลูกยูคาลิปตัสไปเท่าใหร่
– ไม่มีใครตั้งคำถาม ว่าจริงๆ แล้วไอ้ถุงผ้าที่แจกกันเป็นบ้าเป็นหลังเมื่อปีที่แล้วมันถูกใช้ซ้ำกี่ครั้ง

ข้อเท็จจริงคือถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในหีบห่ออาหารที่มีประสิทธิภาพในด้านพลังงานสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงพลังงานการขนส่ง นึกภาพถุงพลาสติกสักกิโล มันมีถุงนับร้อยๆ อัดแน่นอยู่ พลังงานจากการขนส่งเป็นสิ่งที่เราตัดออกจากสมการไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะลืมมันไปอย่างร้ายกาจ เราเลือกที่จะลืมว่าถุงผ้าที่ Wal-Mart ใช้โฆษณาว่ารักโลกผลิตในเมืองไทย และลงเรือซึ่งใช้น้ำมันและพ่นคาร์บอนไปสหรัฐฯ

ผมไม่ได้เชียร์ถุงพลาสติก ผมไม่ได้คิดว่าเราควรใช้มันโดยไม่คิดมาก

เมื่อหลายเดือนก่อนผมเดินอยู่ในห้างใหญ่กลางกรุง บริษัทกระดาษขนาดยักษ์กำลังพยายามบอกว่ามันรักโลกแค่ไหน ด้วยการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ และใช้กระดาษทั้งงาน.. กระดาษคุณภาพสูงมากเนื้อหนาพิเศษถูกนำมาใช้แทนโครงเหล็กที่พบเห็นได้ตามนิทรรศการทั่วไป

รักโลก????

ผมเริ่มสรุปได้ในใจว่าสังคมไม่ได้รักโลก เราแค่อยากหล่อขึ้นมาอีกหน่อยนึงด้วยการใส่ผ้าไม่ฟอกสี ใส่กางเกงสีกากี

ผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่าแทนที่เราจะพยายามหาทางออกที่ง่ายๆ ทำไมเราใช้ให้น้อยลง การใช้น้อยลงไม่ต้องการการพิสูจน์ใดๆ ถุงพลาสติก 1 ใบใช้พลังงานน้อยกว่าถุงพลาสติก 2 ใบ ขยะลดลง ก๊าซพิษลดลง

ข่าวร้ายคือเศรษฐกิจอาจจะหดตัวลง…

และเหมือนว่าเราจะยอมรับไม่ได้ เราไม่อยากบริโภคน้อยลง ไม่มีใครยินดีเมื่อการไฟฟ้าระบุว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินนั้นเริ่มมีสำรองเหลือมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องสร้างโรงงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากเท่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้

เราดีใจกับเงินนับแสนล้านที่ถูกอัดลงมาในระบบ การบริโภคจะมากขึ้น อุตสาหกรรมรถยนต์จะกลับมาเป็นบวก

น่าดีใจ…..

 

to-do: on twitter

ช่วงนี้มีอะไรอยากทำกับ twitter เยอะ จดไว้ก่อน

ใครจะเอาไปทำก็ไม่ว่ากันครับ บอกด้วยผมจะได้ไม่ทำเอง

  • twitter-code: อยากส่งซอร์สโค้ดทาง twitter ขอแค่ code highlight ง่ายๆ ผูกกับ twitter เท่านั้นล่ะ
  • twitter-public: ปัญหาสำคัญของ twitter คือพอตั้งเป็น private แล้วมันไม่มีส่วนร่วมกับชาวบ้านเลย เล่น hashtag อะไรก็ไม่ได้ อาจจะสร้าง account ใหม่เป็น public แล้วสแกนหา hashtag ใน private account ไปโพสเป็น public
 

Virtual Economics: ทางออกของทุนนิยม?

ผมเขียนเรื่องนี้ต่อจากตอนที่แล้วในการ[แสดงความเห็นทางด้านเศรษฐกิจ](http://lewcpe.com/blog/archives/779/my-opinions-on-economics/) ซึ่งในเวลาใกล้ๆ กันคุณ [bow_der_kleine](http://www.biolawcom.de/profile/1) ซึ่งเขียนบล็อกแบบนานๆ ทีเหมือนผมก็[เขียนเรื่องใกล้ๆ กัน](http://www.biolawcom.de/blog/874/Produce-for-Whom.html)ขึ้นมา ผมเลยเขียนบล็อกนี้โดยตั้งใจที่จะต่อจากทั้งสองอัน

จุดที่เลวร้ายที่สุดของทุนนิยมนั้นสำหรับผมแล้ว ไม่ใช่เรื่องของความโลภในตัวมนุษย์ ความโลภนั้นเลวร้ายโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ตรงข้ามกับความเลวร้าย ทุนนิยมกลับดึงบางสิ่งดีๆ ออกมาจากแรงงานที่ได้จากความโลภนั้นได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค หรือวิทยาการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ

ปัญหาสำคัญของระบบทุนนิยมคือ ความโลภที่ว่านั้นมีไม่จำกัด ผมไม่เชื่อในความ “ปากดี” ของใครสักคนที่ไม่เคยจับเงินก้อนใหญ่ๆ ที่พร่ำบอกว่าถ้าตัวเองมีเงินเท่านั้นเท่านี้แล้วจะพอ ผมเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่เคยพอ เหมือนที่อาจารย์ผมสอนเสมอว่า **”Human consumes unlimited resources.”** ผลความเลวร้ายนี้คือการพยายามผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และความต้องการตลาดเพื่อที่จะบริโภคสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นอย่างไม่หยุดยั้งเหมือนกัน

นับแต่ยุคล่าอาณานิคมเป็นต้นมา ระบบทุนนิยมเอาชนะทุกระบบมาได้ด้วยปัจจัยสองอย่างคือทรัพยากรที่มีการนำมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

นึกถึงสมัยบ้านเราตื่นเหมืองแร่ดีบุก กับการเปิดตลาดในจีนทุกวันนี้นะครับ นั่นคงเป็นสองตัวอย่างที่เราเห็นกันได้ชัด

เมื่อมาถึงยุคนี้ปัญหามันเลยเริ่มปะทุออกมา เพราะการนำทรัพยากรมาใช้__เพิ่มขึ้น__จากเดิมทำได้ยาก ตรงข้ามเราพยายามลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงเพราะโลกมีทรัพยากรจำกัด ด้านสังคมมนุษย์เองก็พยายามไม่เพิ่มประชากรกันเพราะคนกำลังล้นโลก เลยมีคำถามว่ากำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้จะผลิตไปขายใครกัน? เพราะขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการผลิตก็ดีขึ้นเรือยๆ จนแทบจะไม่ต้องจ้างคนมาผลิตกันแล้ว

ผมเชื่อว่าทุนนิยมยังไปได้ต่อ ถ้าโลกไม่ถึงกาลอวสานไปซะก่อน (แต่ตอนนี้เองก็ปริ่มๆ ใช้ได้) ด้วยเศรษฐกิจเสมือน

เศรษฐกิจเสมือนคือการผลิตและการขายอะไรบางอย่างที่ไม่มีอยู่จริง ลองนึกถึงการให้ของขวัญกันใน Social Network ต่างๆ ที่มีการซื้อของ__เสมือน__จากเงิน__จริง__ เกิดเงินหมุนเวียน สร้างงานสร้างรายได้ และกำลังสร้างภาษี

เรื่องที่ดีที่สุดของเศรษกิจเสมือนนี้คือมันใช้ทรัพยากรโลก ต่อกำลังการผลิตค่อนข้างต่ำมากๆ ลองนึกถึงไอเทมสักชิ้นในเกมออนไลน์ที่มีการหมุนเวียนไปมา มันอาจจะมีการหมุนเวียนกันสิบชิ้น หรือล้านชิ้นนั้น ไม่ได้กระทบต่อปริมาณคาร์บอนหรือป่าไม้ในโลกต่างกันเท่าใดนัก

ทุนนิยมกำลังหาทางออกของมันเอง ด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในวงการที่ดูจะไม่มีเหตุผลต่อการดำรงค์ชีวิตขึ้นเรื่อย สิ่งที่เราซื้อขายกันกำลังห่างออกไปจากความจำเป็นในการดำรงค์ชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ลองนึกถึงตู้รองเท้าของสาวสักคนที่อาจจะมีสัก 30-50 คู่ ทุกคู่นั้นช่วยสร้างงานให้กับใครสักคนในโลกได้ผลิตรองเท้า ปัญหาคือรองเท้าเหล่านั้นต้องการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นพลาสติก เหล็ก และยาง มาใช้ในการผลิต ตลอดจนการใช้พลังงานในการผลิต การขนส่ง และการใช้ที่ดินในการจัดเก็บคงคลัง การแสดงสินค้า ฯลฯ ยิ่งเราซื้อมาก โลกของเราก็จะยิ่งบอบช้ำ แต่หากเป็นการซื้อรองเท้าใน Second Life การรบกวนโลกจะต่ำลงจนใกล้ศูนย์ ในโลกเสมือน เราอาจจะซื้อดอกไม้ให้สาวได้นับร้อยช่อ (ให้กี่คนนี่อีกเรื่อง) โดยที่ไม่มีการตัดต้นไม้จริงเลย สาวๆ จะซื้อชุดใหม่ได้ไม่ยั้ง

การผลิตกำลังจะกลายเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ มนุษย์เรากำลังจะก้าวไปทำอะไรที่เครื่องจักรทำไม่ได้ นั่นคือจินตนาการ ในวันหนึ่งอาชีพที่เรารู้จักอาจจะมีแต่ศิลปิน, นักออกแบบ, นักวิทยาศาสตร์ และอาชีพที่ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ

ข่าวดีสองเรื่องคือเมื่อเศรษฐกิจกลายเป็นเศรษฐกิจแบบเสมือนมากขึ้นเรื่อยๆ การบริโภคของแต่ละคนจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง และประชากรเราสามารถน้อยลงได้โดยไม่กระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะในโลกเสมือน เราบริโภคได้ไม่จำกัด

ข่าวร้ายคือ เมื่อเราอิงกับวัตถุเสมือนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว วันหนึ่ง…

เราก็จะไปอยู่กันใน The Matrix