แม่ง Google Chrome

ผมชอบ Google Chrome มากครับ มันเป็นเบราเซอร์ที่ออกแบบมาดี ตอบสนองเร็ว เขียน extension ง่าย และมี Web Developer ค่อนข้างดีมากแถมมาในตัว

ผมแทบจะเป็นคนแรกในประเทศไทยที่รีวิวมันเมื่อมันเปิดตัว ผมชอบทีมงานที่ตอบสนองต่อบั๊ก local ดีมาก มีความคืบหน้าอย่างเร็ว รับรู้และช่วยกันแก้ปัญหาเร็วมาก แม้ว่าบางทีรอบ release จะช้าออกไป แต่เมื่อติดตามบั๊กแล้วมันถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป บางทีเราก็แค่ใช้รุ่นเก่าสักหน่อย แล้วรอรุ่นหน้าที่ปัญหาถูกแก้ไขแล้วเท่านั้นเอง

แต่มันไม่ใช่รอบนี้ กับปัญหาภาษาไทยบนลินุกซ์

กว่าหกเดือนที่อยู่ดีๆ การอัพเดตครั้งหนึ่งทำทุกอย่างพัง ฟอนต์ไทยเละซ้อนกันไปมาอย่างน่าสนุก มันนานจนผมเริ่มหมดความหวัง และแอบคิดว่าทีมงานจะเริ่มทิ้งภาษาไทยกันแล้วหรืออย่างไร

แต่เมื่อวันก่อนน้อง @nattster ก็บอกว่า [บั๊ก 43951](http://crbug.com/43951) ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายๆ กันแต่เกิดกับภาษากลุ่มรัสเซีย เริ่มมีแพตซ์แล้ว และเป็นไปได้มากว่ามันจะเป็นปัญหาเดียวกับภาษาไทย เพราะมีการแจ้ง[Chrome OS บั๊ก 3031](http://crosbug.com/3031) ไว้ใน Chrome OS ก่อนหน้านี้แล้ว

ผมไม่รอแล้ว หกเดือนมันนานเกินไป ผม setup build environment แล้วจัดการโหลดแพตซ์มาคอมไพล์เองเมื่อคืนนี้

ข่าวดีคือแพตซ์ของบั๊ก 43951 ช่วยแก้ปัญหาตัวอักษรซ้อนกันได้

ข่าวร้ายคือมันไม่แก้ Chrome OS บั๊ก 3031 ทำให้สระและวรรณยุกต์ข้างบนบินไปมา

แม่ง…

ผมเปิด trac ของเว็บ WebKit ผมไม่รอแล้วหกเดือนมันนานเกิน และเรารู้แน่ๆ ว่าเมื่อหกเดือนก่อนมีใครสักคนทำมันพัง ผมไล่ดู revision ของ SVN พบว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว Evan Martin ยังเข้ามาดูเรื่องภาษาไทยในกันอยู่ใน [revision 49994](http://trac.webkit.org/browser/trunk/WebCore/platform/graphics/chromium/FontLinux.cpp?rev=49994) เอาล่ะทีนี้เรารู้ว่ารุ่นนี้มันเวิร์คแน่

เล่นง่ายด้วยการเอาไฟล์ FontLinux.cpp วางทับ แล้วหวังว่ามันจะคอมไพล์ผ่าน….

แน่นอนมันไม่เคยเป็นจริง…

ตื่นจากฝัน แล้วดูโลกความเป็นจริง เราต้องค่อยๆ ดึงโค้ดเก่าบางส่วนว่าตรงไหนบ้างที่น่าจะก่อปัญหา [จาก diff](http://trac.webkit.org/changeset?old_path=%2Ftrunk%2FWebCore%2Fplatform%2Fgraphics%2Fchromium%2FFontLinux.cpp&old=49994&new_path=%2Ftrunk%2FWebCore%2Fplatform%2Fgraphics%2Fchromium%2FFontLinux.cpp&new=)

ไล่บ้างมั่วบ้าง สุดท้ายก็ไปเจอเอาฟังก์ชั่น setGlyphXPositions ทดลองวางของเดิมทั้งอัน เวิร์ค! แต่ไม่ดีแน่ที่เอาของเดิมไปทับดื้อๆ ผมค่อยๆ ไล่แล้วพบว่าที่มันก่อปัญหาก็มีแค่สามบรรทัดตรงกลางเท่านั้น ก็ส่งเป็น [patch](http://code.google.com/p/chromium-os/issues/detail?id=3031#c6) ไป หวังว่าทีมงานคงดูต่อให้เรียบร้อย ส่วนตัวผมมีใช้งานก็พอใจแล้ว

คนแถวๆ นี้คงขี้เกียคอมไพล์ใหม่ ก็[จิ้มโหลดตัว binary](http://garnet.cpe.ku.ac.th/~wason/chrome.r50881.tgz) ได้เลยครับ หาทางติดตั้งกันเอาเองแล้วกันงานนี้

 

Analytics#2

ไม่มีอะไรมาก จะบอกว่าประเทศไทยก็ใช้ได้เหมือนกันครับ

ส่วนในสหรัฐฯ นั้นดูกันเป็นรัฐได้เลย

 

Google Analytics

เพิ่งรู้ว่ามันทำอย่างนี้ได้ด้วย

อีกหน่อยคงเอาค่า GPS ใน Google Gears มาบอกได้ว่าคนอ่านเว็บจากที่นอนหรือโต๊ะทำงานมากกว่ากัน

 

Android ก้าวที่ยิ่งใหญ่?

การเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ของกูเกิลในนาม Android ที่หวังจะเป็นมาตรฐานใหม่ของโทรศัพท์มือถือนี้นับว่าเป็นความท้าทายล่าสุดที่ทางกูเกิลปล่อยออกมาให้เราได้ชม

ขณะที่ SDK ที่ออกมานั้นนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความสามารถที่หลากหลาย และ SDK ที่ดูดีมาก จนตอนนี้ดูเหมือนว่าจะบดบังรัสมีของต้นตำรับ “กระแส” มือถือโอเพนซอร์สอย่าง OpenMoko ลงในพริบตา

การเปิดตัวนาทีแรกของกูเกิลในครั้งนี้นับว่า …จุดติด… เลยทีเดียว

แต่คำถามที่ผมสงสัยคือ มีเหตุอะไรจึงไม่มีโทรศัพท์ที่แม้จะไม่ใช่การผลิตในชื่อกูเกิลเอง ออกมาวางขาย หรือกระทั่งออกกำหนดการวางขายหลังการเปิดตัวระบบปฏิบัติการและ SDK ในครั้งนี้

ขณะที่ทาง HTC ออกมาให้ข่าวค่อนข้างชัดเจนว่า บริษัทกำลังจะผลิตมือถือที่ใช้ Android ถึงแปดรุ่นในปีหน้า แต่การออกข่าวแบบไม่มีกำหนดนี้ค่อนข้างน่ากลัวเมื่อเทียบกับวิมานในอากาศที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายๆ ครั้ง

โครงการ OLPC เป็นโครงการหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ในระดับที่เทียบเท่ากับสิ่งที่กูเกิลหวังใน Android เป็น ด้วยการออกข่าวอย่างหนัก แต่ไม่สามารถแสดงผลสำเร็จได้ในเวลาที่เร็วพอ กระแสหลังจากที่เครื่อง OLPC XO ออกวางจำหน่ายจริงจึงต่ำอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับ Asus Eee PC ที่วางจำหน่ายจริงในเวลาเพียงหนึ่งไตรมาสหลังการประกาศข่าว นับว่าเป็นการจุดกระแสล่วงหน้าก่อนการเปิดตัวได้อย่างค่อนข้างดี เช่นเดียวกับ OpenMoko ที่พัฒนาช้าและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เสียจนไม่น่าสนใจในช่วงหลัง

นาทีนี้ความอยู่รอดของ Android จึงไม่น่าใช่เรื่องของความสามารถของตัวระบบปฏิบัติการที่ทรงพลัง แต่หากเป็นตัวโทรศัพท์ที่จับต้องได้ต่างหากว่าจะเข้าสู่ตลาดเร็วแค่ไหน

ที่สำคัญกว่านั้นคือจะออกมาในรูปแบบไหนกัน?

ขณะที่แอปเปิลนั้นได้รับความนิยมในระดับที่ยินดีเป็นสาวกกันเป็นจำนวนมาก ผมยังไม่เคยเห็นใครเรียกใครว่าเป็นสาวกกูเกิลมาก่อน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะคนจำนวนมากใช้งาน Gmail เพราะมันเร็ว, ความจุสูง และใช้งานง่าย มากกว่าเพราะว่ามันเป็นของกูเกิล

ดังนั้นการออกมือถือเครื่องละสองหมื่นแล้วหวังว่าจะขายได้นับล้านเครื่องแบบแอปเปิล ไม่น่าจะเป็นการคาดหวังที่ดีนัก

ขณะที่การตัดสินใจทำระบบเปิดของ Android ช่วยให้ความกังวลในเรื่องของจำนวนแอพลิเคชั่นลดลงไปได้มาก เราน่าจะได้เห็นโปรแกรมเจ๋งๆ จำนวนมากเข้าไปอยู่ใน Google Code  กันในเร็ววันนี้ แต่ความคาดหวังในตัวโทรศัพท์เป็นสิ่งที่กูเกิลและ Android ต้องแบกรับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ Android คงไม่สามารถแบกรับความต้องการไว้ทั้งหมดได้ แต่กูเกิลจะแบกรับมันได้มากพอหรือไม่  นั่นเป็นคำถามที่น่าจะชี้ความเป็นความตายให้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ลองนึกความคาดหวังเหล่านั้นว่ามีอะไรบ้าง

  • ราคา ขณะที่โทรศัพท์รุ่นที่โชว์อยู่ในตอนนี้น่าจะมีราคาแพง (จอใหญ่ ความเร็วสูง) โทรศัพท์ที่ใช้งาน Android จำเป็นต้องมีหลากหลายเพื่อกินตลาดให้ครบช่วง แม้อาจจะเป็นไปไม่ได้ที่ Android จะลงไปทำงานในมือถือเครื่องละพัน แต่อย่างน้อย Smartphone รุ่นต่ำๆ ที่อยู่ในช่วง 8000 บาทขึ้นไปก็น่าจะทำงานได้ เพื่อให้ฐานตลาดกว้างขึ้น
  • ความเข้ากันได้ ความได้เปรียบตลอดกาลของแอปเปิลคือการควบคุมฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเองทั้งหมด ขณะที่ Android เป็นพันธมิตรจำนวนมาก การใช้ยี่ห้อร่วมกันจะสร้างความคาดหวังในความเข้ากันได้ที่ค่อนข้างสูง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโปรแกรมตัวไหนจะสามารถรันบนโทรศัพท์รุ่นใดบ้างนอกจากการนั่งหาตามเว็บบอร์ด
  • อุปกรณ์เสริม ขณะที่ตลาดอุปกรณ์เสริมเป็นตลาดที่ทำกำไรได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ในทางกลับกันการที่ตลาดอุปกรณ์เสริมใหญ่ก็มีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อตัวโทรศัพท์มากขึ้นด้วย ขณะนี้โลกโทรศัพท์มือถือกำลังเริ่มยอมแพ้ต่อการพยายามใช้พอร์ตที่ไม่มาตรฐาน และพันกลับมาใช้ USB กันเรื่อยๆ หาก Android สามารถสร้างตัวเองเป็นมาตรฐานกลางให้กับอุปกรณ์เสริมที่จะสามารถใช้งานข้ามยี่ห้อกันได้อย่างไม่จำกัด ก็น่าจะเป็นจุดแข็งที่น่ากลัวสำหรับคู่แข่งทุกค่ายไป

ต่อตอนหน้า….