iPhone 7

screenshot_2016-09-08_01-25-39

เรื่องที่เสียใจที่สุดไม่ใช่การที่แอปเปิลตัดรูหูฟังออก (อีกไม่กี่ปี มือถือจำนวนมากก็น่าจะตัดออกเหมือนกัน) แต่เป็นการที่แอปเปิลเลือกจะตัดรูหูฟังโดยใช้พอร์ต Lightning

มันแปลว่าแอปเปิลจะต้องซัพพอร์ต Lightning ไปอีกนานเพราะชวนลูกค้าซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มอีกอย่างไปแล้ว

มันแปลว่าความฝันที่ว่ามือถือ (และแลปทอป) ทั้งหมดจะหันมาใช้พอร์ตร่วมกันทั้งโลก จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอีกสองสามปีข้างหน้า

แอปเปิลมีโอกาสที่ดีที่สุดที่จะรวบทุกพอร์ตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ถ้า iPhone 7 ใช้ USB-C (เหมือน MacBook) มันจะเป็นสัญญาณของการรวบพอร์ตให้เป็นหนึ่งเดียวครั้งใหญ่ที่สุด

แม้แอปเปิลตัดพอร์ตหูฟังไป แต่อุปกรณ์เสริมก็จะไมใช่ของแปลกประหลาด การลงทุนกับอุปกรณ์เสริมจะเป็นเรื่องเล็กหากมันสามารถใช้งานได้ทุกที่

โลกได้พลาดโอกาสนั้นไปแล้ว

 

Password Manager

มีคนถามมานานแล้วว่าใช้ Password Manager อะไรดี ส่วนตัวแล้วไม่เคยตอบได้ (เอาจริงๆ ถ้าใช้แล้วตั้งรหัสกันได้ดีขึ้น ตัวดังๆ ก็ดีหมด) เลยมาตั้งคำถามว่า “ดี” คืออะไร มองนิยามของตัวเอง

  • ใช้งาน offline ได้: ยุคนี้เราบ้า cloud กันเกินจำเป็นไปหน่อย จริงๆ โดยตัว cloud มันไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับ password manager มันควรมีทางเข้าทางออกชัดเจน ว่าไฟล์เข้ารหัสแล้วค่อยขึ้น cloud จะ backup ก็ออกไฟล์ไป
  • ใช้งานบนเดสก์ทอปได้: อันนี้เป็นความจำเป็นส่วนตัว ไม่ชอบใช้บน mobile อย่างเดียว (คำแนะนำนี้เลยอาจะไม่ตรงคนอื่นนัก)
  • มีการตรวจสอบชัดเจน: code audit คงจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง สำหรับซอฟต์แวร์ที่ต้องการความปลอดภัยสูง
  • โอเพนซอร์ส: อันนี้ไม่จำเป็นนัก แต่ก็เพิ่มโอกาสให้การตรวจสอบวงกว้างทำได้ง่ายขึ้น (ซึ่งถ้าเป็นแอปได้รับความนิยมสูง มันก็มีคนตรวจเยอะจริงๆ)

หามาตัวเลือกแรกกลับเป็น vim เพราะมีฟีเจอร์เข้ารหัสในตัว (:X) ใช้การเข้ารหัสแบบ blowfish เปิดที่ไหนก็ได้ มี vimtouch ใช้บนโทรศัพท์มือถือได้ แต่ปรากฎว่าไม่ผ่านเพราะ vimtouch เป็น vim 7.3 ที่ใช้การเข้ารหัส blowfish ที่มีช่องโหว่ ต้องเลือกเป็น blowfish2 ที่แก้ไขแล้ว แม้ว่าบนลินุกซ์ส่วนใหญ่จะรองรับ แต่เอามาเปิดบน mobile ไม่ได้

ค้น Password Manager บน Google Play ตกข้อ offline เกือบหมด แทบทุกตัวชอบซิงก์คลาวด์ หรือไม่ก็ต้องต่อเน็ตเพื่อโฆษณา ผ่านตัวเดียวคือ Keepass2Android Offline อันนี้ตรงหมด ไม่มี permission ออกเน็ตเวิร์ค, export ไฟล์ฐานข้อมูลไปใช้บนเดสก์ทอปได้ ตัวโครงการหลัก keepass2 อยู่บนลินุกซ์ส่วนใหญ่อยู่แล้ว, โอเพนซอร์ส, และสหภาพยุโรปกำลังทำ code audit ให้ (อันนี้ขี้โกงหน่อย คือยังไม่ได้ทำ แค่จะทำ)

สำหรับคนทั่วไปคงไม่ได้แนะนำตัวไหนเป็นพิเศษ แค่ว่าเลือกตัวที่น่าเชื่อถือหน่อย อ่านสิทธิ์ว่ามันต้องการสิทธิ์อะไรไปทำไม และดูหน้าตา+ฟีเจอร์ว่ามันตรงการใช้งานไหม

 

Autonomous Car

คิดไว้สักพักว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อรถยนต์ไร้แบบไร้คนขับจริงๆ (วิ่งโดยไม่มีคนในรถได้เลย) ถูกกฎหมาย

  • ช่วงแรกแรกมันจะเป็น Uber เอาไว้เรียกเท่ๆ ราคาน่าจะแพงมาก แต่ข้อดี (จัดๆ) คือไร้ปัญหา ขับมาตรฐานเดียวไม่ต้องอ่านรีวิว ไม่มีทางส่งรถแน่นอน ไม่มีซิ่ง ไม่มีขับกระตุก ไม่มีง่วง
  • รถขายขาดคงมีบ้าง ราคาแพงมาก แต่เป็นหนทางที่คนรวยจะมีคนขับรถกันได้กว้างขวางขึ้น จากเดิมที่ต้องรวยมากกลายเป็นรวยปานกลาง
  • แต่บริษัทแท็กซี่จะสามารถ utilize รถได้ในระดับเทพ ขับ 24 ชั่วโมง ไม่มีบ่นเมื่อปลายทางไกล ไม่มีอาการงอแงเพราะไปคนละทางกับทางกลับบ้าน อัตราอุบัติเหตุต่ำ การบำรุงรักษาทำได้ง่ายเพราะคนขับมีวินัยสูง อัตราการนั่งโดยสารต่ออายุงานรถจะสูงขึ้นเรื่อยๆ รถคันหนึ่งอายุ 7 ปีอาจจะมีเวลารวมที่มีคนนั่ง 3-5 ปี คนอาจจะอยากเดินทางช่วงเวลาแปลกๆ กันมากขึ้นเพราะค่ารถถูก เรียกรถไปไกลๆ เช่น กทม. หัวหิน ก็อาจจะเรียกได้หลังห้าทุ่ม เพราะเป็นเวลาไม่มีใครเรียก รถเหลือ ตีรถเปล่ากลับมาก็ยังคุ้ม ถึงกทม. เช้าพอดีรับคนช่วงเวลาเร่งด่วนต่อ
  • ในระยะยาว ความเป็นเจ้าของรถจะแทบไม่จำเป็น บริษัทรถสามารถเพิ่มรถได้เรื่อยๆ ไม่ติดปัญหาคนขับไม่พอ ค่าโดยสารจะเริ่มคาดเดาได้ว่าแพงช่วงเวลาเร่งด่วน และถูกลงเมื่อนอกช่วงเวลา
  • ถนนจะถูก utilize หนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรถรู้ว่าคันหน้าเป็นรถอัตโนมัติเหมือนกันจะสามารถสื่อสารกันเองได้ และแจ้งเตือนอุปสรรคด้านหนัา ขับชิดกันเหมือนรถไฟ (อันนี้เป็นไอเดียที่ทีมรถอัตโนมัติที่อยู่ในกูเกิลระบุไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงานกูเกิลกัน)
  • ระยะยาวหลังจากนั้นเราอาจจะต้องถามว่าขนส่งมวลชนคืออะไร เราจำเป็นต้องมีรถไฟไหม ถ้ารถยนต์และรถบัสไร้คนขับบนถนนมีความปลอดภัยสูง ใช้แรงงานเพียงเล็กน้อยในการเดินทาง และสามารถปรับรูปแบบการเดินทางได้ตามความต้องการเสมอ เมืองหนึ่งมีเทศกาลก็มีรถบัสวิ่งมารับส่งได้ภายในวันเดียว
  • (อันนี้ไกลโพ้น) ระบบขนส่งมวลชนหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว นั่งกดแอปเรียกรถไปต่างจังหวัดแบบถูกสุดมีรถแท็กซี่มารับถึงหน้าบ้าน ไปทิ้งไว้ที่จุดต่อรถ มีรถบัสมารับต่อที่ปลายทางมีแท็กซี่รอรับ ทั้งหมดถูก assign แบบ dynamic ไม่มีตารางชัดเจน มีคนไปทางเดียวกันมากพอระบบก็ส่งรถบัสมา

คนขับรถจะเริ่มตกงานตั้งแต่ข้อสามเป็นต้นไป

 

ว่าด้วย PromptPay

UPDATE: เผื่อใครเพิ่งเข้ามาอ่าน มีบทความต่อจาก note อันนี้ที่ Blognone ครับ (อ่านที่โน่นเลยก็ได้ อันนี้กระจายมาก)

UPDATE2: มี ทีมงานผู้ออกแบบ PROMPTPAY” มาคอมเมนต์ตอบข้อสงสัย

จดความคิดเกี่ยวกับมันไว้หน่อย

  • พร้อมเพย์ เป็นชื่อที่เกินจริง มันแค่ระบบโอนเงินฟรี (อย่างน้อยที่สุดในตอนนี้) ยังไม่มีระบบอะไรที่ทำให้มันเป็นระบบรับจ่าย ระบบโอนเงินคล้ายๆ กันอย่าง UP2ME รับจ่ายค่าสินค้าในห้างได้ พวก mpay truemoney ก็มีระบบรับจ่ายบิล พร้อมเพย์ยังไม่มีอะไรเลย
  • เรื่องที่น่ากังวลเบื้องต้นคือ การแสดงชื่อผู้รับ (ธนาคารกสิกรไทยให้สัมภาษณ์บน Blognone) บนหน้าจอโอนเงิน เพราะแสดงว่ามันมีฐานข้อมูล เบอร์โทร-ชื่อผู้ใช้ เปิดให้ทุกธนาคารเข้าถึงได้ สามารถ query ออกมาได้ทางหน้าจอโอนเงิน
  • note: ได้ข้อมูลใหม่จากคนทำงานข้างใน (ใครอ่านไม่ได้ก็คงช่วยไม่ได้) ระบุว่ามีระบบตรวจการค้นหาผิดปกติอยู่ที่ศูนย์กลาง
  • ฐานข้อมูลแบบเดียวกันนี้ที่อื่นก็คงมี แต่พร้อมเพย์จะเป็นฐานข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด (ทุกธนาคารช่วยกันเก็บข้อมูล) ถูกต้องที่สุด (ทุกธนาคารช่วยกันตรวจ) และเปิดกว้างที่สุด (ทุกธนาคารเปิดให้ลูกค้า query ่ผ่านหน้าจอโอนเงิน)
  • ภายหลังจากเปิดบริการไม่นาน การดึงฐานข้อมูลกลับออกมาเปิดเป็นฐานข้อมูลสาธารณะน่าจะทำได้ ให้คนกดเลขมั่วๆ ดูชื่อไปเรื่อยๆ แล้ว copy ออกมา ไม่นับว่าจะมีสักธนาคารเผลอเปิด API ให้ดึงข้อมูลได้เรื่อยๆ
  • เจอกันป้ายหน้าเป็น CSV แจกตาม torrent อยากได้เบอร์คนดัง เบอร์ดารา เบอร์แฟนเก่า สะดวก แม่น เปลี่ยนหนียาก (เพราะใช้รับเงิน)
  • เรื่องที่แย่รองลงมาคือ กระบวนการถอนหมายเลขออกจากบัญชีธนาคาร ที่ตอนนี้เป็นหลุมดำ ไม่มีใครบอกได้ว่าทำอย่างไร ใช้อะไรบ้าง ธนาคารหลายธนาคารบอกแค่ว่าทำได้ตลอดเวลา
  • มันต้องตลอดเวลาอยู่แล้ว (สิวะ) คำถามไม่ใช่ว่าถอนหมายเลขได้เมื่อไหร่ คำถามคือต้องใช้อะไรในการถอนออกบ้าง ต้องแสดงตนที่สาขาไหม หรือส่ง SMS ยืนยัน หรือต้องล็อกอินธนาคารออนไลน์ และกระบวนการถอนบัญชีใช้เวลานานแค่ไหน
  • ในแง่ระยะเวลา มันหมายความว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจ
  • ถ้าใช้แค่ SMS ถอนการผูกบัญชี เช่น ส่ง SMS ไปที่เบอร์ XXXXXXX เพื่อถอนการผูกบัญชี แสดงว่าถ้าเรา hi-jack หมายเลขโทรศัพท์ได้ จะเหมือนเรา hi-jack หมายเลขบัญชีได้พร้อมกัน ขโมยเลขโทรศัพท์ได้ ถอนการผูกบัญชีเดิม แล้วเอาไปผูกบัญชีใหม่ เงินไหลมาทางที่เราต้องการแทน พวกนี้ถ้าทำได้เร็ว ร้านค้าออนไลน์ที่รับโอนเร็วๆ ก็อาจจะสร้างความเสียหายได้ไม่น้อย
  • ถ้าหนาแน่นมาก เช่น ต้องไปแสดงตน สักพักน่าจะเกิดกรณีหมายเลขผู้กับบัญชีไว้นาน เจ้าของเดิมผูกไว้แบบงงๆ ไม่ได้ใช้ แล้วเบอร์หมดอายุ ไปเวียนกลับมาขายใหม่ เจ้าของเบอร์ใหม่ผูกบัญชีไม่ได้ เพื่อนเผลอโอนเงินเข้าหมายเลขโทรศัพท์ แล้วเงินก็ไหลไปไหนไม่รู้
  • สาระคือการโอนเงินฟรี หมายเลขบัญชีเดิมๆ ก็โอนฟรีได้ จะสร้างฐานข้อมูลหมายเลขบัญชี-หมายเลขบัตรประชาชน เอาไว้รับเงินจากรัฐก็เข้าใจได้ จะเอาหมายเลขโทรศัพท์ (ซึ่งมันไม่มีคุณสมบัติในการ identify ตัวบุคคล) มาใช้ทำไม
  • คำแนะนำตอนนี้ คือไม่แนะนำให้ใครทั้งสิ้นลงทะเบียนจนกว่ากระบวนการทั้งหมดจะชัดเจน อย่างน้อยก็กระบวนการถอนการผูกบัญชี และการเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ ยิ่งการเปิดลงทะเบียนโดยต้องรออีกหลายๆ เดือนจะใช้งานได้ ยิ่งไม่มีเหตุผลให้ต้องแนะนำ