minio

มีเคสที่ต้องการเปิด local file ออกไปให้ระบบภายนอก (ใน LAN เดียวกัน) เข้าถึงได้ง่ายๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่ามันจะยากอะไร เพราะใช้ minio มาได้ตลอด รันทีเดียวขึ้นเลย ทำไม่เกินครึ่งชั่วโมงเสร็จ

แต่รอบนี้อยู่ๆ ไฟล์ก็ไม่มา งงว่าเกิดอะไร ปรากฎว่า minio ประกาศถอดฟีเจอร์นี้ออกไปแล้ว เพราะต้องการไป implement ฟีเจอร์ enterprise พวกทนทานต่อความเสียหายข้อมูลแทน ฟีเจอร์เปิด API ง่ายๆ กับ local filesystem แบบนี้ลูกค้าระดับองค์กรใช้น้อย (ทาง minio บอกว่า 2%) ซึ่งก็ไม่แปลก คนที่ต้องการระบบเล็กๆ เร็วๆ แบบนี้มักเป็นระบบขนาดเล็กที่ไม่ซื้อซัพพอร์ต minio เท่าไหร่

แต่การถอดไปเลยแบบนี้ก็โหดใช้ได้ คิดว่าเป็นช่องว่างสำหรับการสร้างโครงการโอเพนซอร์สมาแทนโดยตรงเลย แต่อย่าหวังรวยเพราะมันไม่ใช่ฟีเจอร์ที่คนพร้อมจ่ายเงินให้มัน

ทางที่เนียนที่สุดคือถอยไปใช้เวอร์ชั่นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และอัพเดตไม่ได้แล้ว คงต้องรอคนมา fork ทำโค้ดใหม่กันเลย

 

หนี้กยศ.

ยังคิดไม่สุดนัก บางประเด็นคิดแต่ในภาวะอุดมคติที่เรายังไปไม่ถึง แต่โน้ตไว้ก่อน

  • คิดว่ารัฐมีหน้าที่จัดหาการศึกษาที่ “เพียงพอให้สร้างรายได้ดูแลตนเอง” (และครอบครัว? ถ้านับด้วยอาจจะต้องถามว่าลูกกี่คน)
  • มุมมองต่อการศึกษา ทุกวันนี้ความรู้ระดับปริญญาไม่ได้จำเป็นต่อการทำงานที่รายได้ดีพอสมควร อย่างน้อยก็ดูแลตัวเองให้อยู่ในฐานะคนชั้นกลางได้ เคยจ้าง freelance นี่น่าจะแซงคนจบปริญญาไปเยอะ แม้เขายังไม่จบปริญญา
  • แต่ในตลาดแรงงานต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีปริญญาตรีแล้ว ตลาดงานของไทยมันจะแคบลงมหาศาลมาก แม้จะเป็นงานที่ไม่น่าจะจำเป็นต้องเรียนปริญญาตรี และหนึ่งในต้นเหตุน่าจะเป็นราชการไทยเอง ที่แข็งเกร็งกับปริญญามากๆ
  • ตลาดแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ งานซัพพอร์ต ต้องการปริญญาตรี 24% QA ซอฟต์แวร์ต้องการปริญญาตรี 54% แนวโน้มนี้กำลังลดลงอีก ของไทยนี่ลองกดหาดูเล่นๆ IT Support เกือบสิบประกาศ เจอรายการเดียวที่ไม่ต้องการปริญญาตรี เชื่อว่าถ้าไปทำวิจัยจริงๆ ก็น่าจะเจอว่าของเราต้องการปริญญาตรีสูงกว่าสหรัฐฯ มากแทบทุกอาชีพ (ลองไปกดๆ พนักงานต้อนรับโรงแรมของไทยก็ยังต้องการประมาณ 4 ใน 10)
  • ภาวะตลาดคัดคนแบบมีกำแพงปริญญาแบบตอนนี้มันพูดยาก ว่าการเรียนปริญญาตรีเป็นทางเลือก ความเชื่อว่ายังไงก็ได้ให้มีปริญญาไว้ก่อน มันมีเหตุผลอยู่ คนที่พูดได้ว่าไม่มีปริญญาก็หางานได้ส่วนใหญ่เป็นกรณียกเว้น จะบอกว่ามีรูให้ลอดไปได้ แต่แทบไม่มีใครผ่านไปได้มันไม่แฟร์
  • ส่วนตัวมองว่าภาวะแบบนี้ของไทย ไม่เป็นผลดีต่อทุกคน พ่อแม่ต้องซัพพอร์ตลูกนานขึ้น แรงงานมีเวลาน้อยลงในการทำงาน ดูแลตัวเองได้ช้าลง (สมมติจบมาได้เงินเดือนสองหมื่น แม้งานจะต้องใช้ความรู้ระดับอนุปริญญา จบช้าสองปีคือเงินหายไปจากชีวิต 480,000) ครอบครัวที่ตึงๆ อยู่แล้วจะลำบากกว่าที่ควรจะเป็น โลกทุกวันนี้กำลังจะออกจากภาวะนี้ สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มว่าลดความสำคัญปริญญาลง สนใจ skill เป็นส่วนๆ เราก็ควรออกเหมือนกัน
  • เราจะไปยังไง ระหว่างแก้ตลาดแรงงานต้องซัพพอร์ตคนไม่ได้เรียนตรีให้มากกว่านี้? หรือควรรีบแก้เรื่องค่าเรียนมหาวิทยาลัยแพง? ต่อให้ทำพร้อมกันหมดจะใช้เวลากี่ปีกว่าจะดีขึ้นจนยอมรับได้? ส่วนตัวมองว่าที่เร็วที่สุดคือรัฐส่งสัญญาณด้วยการปลดเงื่อนไขปริญญาตรีในตำแหน่งจำนวนมาก ทั้งจากจ้างตรงและการรับงานจากภาครัฐ สัญญาณแบบนี้น่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเอกชนโดยเฉพาะบริษัทอื่นๆ ที่รับงานจากรัฐ
  • การสนับสนุนในรูปแบบ soft loan เป็นการมองว่าระดับที่ให้ไม่ใช่ขั้นต่ำ ซึ่งเข้าใจได้ หลังจากการให้ขั้นต่ำทุกคนแล้ว รัฐก็ควรสนับสนุนให้คนสร้างฐานะในรูปแบบ soft loan ต่อ จะเรียนต่อ จะทำธุรกิจ หรือจะฝึกอาชีพ พวกนี้ให้ในรูปแบบที่ไม่ได้ให้เปล่าได้ เป็นแนวทางที่เข้าใจได้
  • ต่อให้มองว่า ป.ตรีไม่ใช่ขั้นต่ำที่รัฐต้องจัดหาให้ กยศ. ก็ยังมีปัญหาในหลายประเด็น ประเด็นที่เคยแก้ไปแล้ว เช่น การค้ำประกัน ที่สร้างเงื่อนไขจนกลายเป็นกำแพงให้คนขาดโอกาสกู้ไม่ได้ไปอีก ประเด็นอื่นเช่น ไปบังคับทำกิจกรรมจนมีเด็กต้องไปซื้อใบรับรองชั่วโมงกิจกรรม นี่ก็ต้องเลิก

 

Kindle Unlimited

Learn More about Kindle Unlimited

ในบรรดาบริการ Streaming ทั้งหลาย อันที่ไม่ค่อยอยู่ในเรดาร์ของคนไทยเท่าไหร่คือ Kindle Unlimited ที่เปลี่ยนโมเดลการตั้งราคามาเป็นการเหมาจ่ายค่าหนังสือ จุดที่น่าสนใจของบริการนี้คือ Amazon เปิดเผยโมเดลราคาต่อสาธารณะ

โมเดลธุรกิจสตรีมมิ่งตอนนี้เหมือนจะแยกเป็นสองโมเดลหลักๆ โมเดลแรกคือกลุ่มภาพยนต์ ที่อาศัยการขายขาด (แยกย่อยตาม ช่วงเวลาและภูมิภาค) ซื้อไปแล้วค่ายไหนจะมีคนดูเท่าไหร่ก็แล้วแต่กันเอง กับอีกโมเดลคือจ่ายตามการใช้งานจริง เช่น เพลงต่างๆ ที่แฟนคลับมักระดมกันไปช่วยฟังสร้างรายได้ให้ศิลปินที่ตัวเองชอบ

แม้จะพอเห็นโมเดลคร่าวๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็มักมีสัญญาปลีกย่อยอีกเยอะมาก เราแทบไม่รู้เลยว่าใครได้ดีลแบบไหนบ้าง ยกเว้น Kindle Unlimited ที่พยายามทำตลาดกับนักเขียนรายย่อยจำนวนมาก ทำให้เราเห็นทั้งหมดว่าดีลปกตินั้น ทำราคาค่าอ่านต่อหน้าเท่าไหร่

แม้จะทำตลาดกับนักเขียนรายย่อย แต่เอาเข้าจริงแล้วคนที่ครองตลาด Kindle Unlimited จริงๆ คือ JK Rowling กับชุดหนังสือ Harry Potter ที่มีอยู่ใน Kindle Unlimited แทบทุกเล่ม และตอนนี้กลายเป็นว่าการสมัคร Kindle Unlimited กลายเป็นช่องทางอ่าน Harry ที่ราคาถูกที่สุด อย่างผมเองสมัคร 6 เดือน 30 ดอลลาร์ อ่านมาสามเดือนก็ครบทั้ง 7 เล่ม ถ้าซื้อเองหมดนี่รวมๆ 70 ดอลลาร์ (ซึ่งถูกกว่าหนังสือกระดาษแล้ว)

เหตุผลนี้ทำให้ Harry อยู่ใน Amazon Chart แบบ Most Read ชนิดโค่นไม่ลง แต่ละเล่มอยู่ในชาร์ตเกือบ 5 ปี หนังสือที่แทรกได้เป็นแค่หนังสือดังๆ เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น

Selection หนังสือใน Kindle Unlimited หนักไปทาง fiction เป็นส่วนมาก แทบไม่มี non-fiction มาลงเลย แต่พอชดเชยด้วยนิตยสารที่ให้กดเลือกสมัครสมาชิกได้ 3 ฉบับ กับมีบางหัวที่เปิดให้ยืมบางเล่มได้

รวมๆ แล้วคิดว่าถ้าเป็นคนอ่านนิยายภาษาอังกฤษแบบต่อเนื่อง ไม่คิดมากว่าต้องเลือกเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ตัวบริการมีหนังสือดีๆ ให้พออ่านไปได้เรื่อยๆ แต่สำหรับผมเองคงอยากเลือกหัวหนังสือที่อยากอ่านเป็นหลัก การมานั่งลุ้นว่าเล่มไหนจะลงบ้างไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไหร่ หลังหมดรอบนี้แล้วคงไม่ได้ต่ออายุ จนกว่าจะมีซีรีส์ไหนยาวๆ (และแพงหน่อย) ให้อ่านอีก ซึ่งนักเขียนหลายคนเลือกวางแค่เล่มแรกๆ ของซีรีส์ โดยหวังว่าจะล่อคนอ่านไปซื้อเล่มต่อๆ ไปทีหลัง

 

NFT

หลายคนถามว่า NFT จะเกิดไหม ฟองสบู่ไหม หรือตอนนี้แค่ฟอกเงิน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อใน NFT พอพอสมควร (50-60% ว่ามันจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ เกี่ยวพันประชากรส่วนใหญ่ภายในสิบปี)

แต่เช่นเดียวกับคำใหญ่ๆ ด้านไอทีทั้งหลาย (Metaverse, Zero Trust, Blockchain, … ) ความหมายมันไหลไปเรื่อยตามคนที่พูด (It mean anything to anyone) ทำให้เวลาพูด พูดไม่ตรงกันไปหมด

แต่มุมมองหนึ่งของ NFT ที่พูดๆ กันคือ portable DRM เวลาส่งต่อแล้ว คนเดิมหมดสิทธิ์ไป อีกคนมีสิทธิ์ใช้งานแทนที ซึ่งแพลตฟอร์มทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่นี้แต่อย่างใด แต่หลายคน “รู้สึก” ไปเองว่ามันทำหน้าที่นี้ รู้สึกไปเองว่าถ้าเจ้าของเดิมขาย NFT ภาพให้เราแล้วก็ควรไม่จัดแสดงใน “Metaverse” อีก (ทั้งที่การขายไม่มีสัญญาอะไรว่าจะมีใครทำตาม)

token อย่างหนึ่งที่โลกของเราใช้ในการแสดงความเป็นเจ้าของอยู่คือแผ่นเกมคอนโซลทั้งหลาย ที่ทุกวันนี้ตัวแผ่นแทบไม่มีค่าอะไรแล้วในเชิงเทคนิค ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แผ่นเกมใส่เครื่องวันแรกแล้วคนใช้จะต้องดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่กว่าในแผ่นเสียอีกมาลงเครื่อง แต่ก็ต้องมีแผ่นเพื่อ “แสดงความเป็นเจ้าของ” เฉยๆ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

เกมดิจิทัลหลายครั้งถูกกว่า สะดวกกว่า ประหยัดกว่า แต่มันทดแทนไม่ได้เพราะแผ่นทำให้เราสามารขายเกมต่อไปมาได้ เรายอมจ่ายต้นทุนมหาศาล สร้างช่องทางค้าปลีกอันซับซ้อน ขนแผ่นและกล่องข้ามโลกไปมา เพื่อหาทางระบุตัวตนว่าใครเป็นคนถือสิทธิ์ ณ ตอนนี้ ในยุคที่เราพูดเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ การกระทำเช่นนี้น่าจะเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ

ถ้าค่ายเกมต่างๆ ยอมปล่อยให้เกมกลายเป็น NFT ยอมเคารพความเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์ได้ ก็น่าจะเป็นการเปิดฉากการซื้อขายซอฟต์แวร์ด้วยแผ่นหรือตลับในโลกความเป็นจริง

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้ blockchain…. (อย่างน้อยก็ในรูปแบบเดียวกับ Ethereum)

ในความเป็นจริงการสร้าง ledger เพื่อเก็บความเป็นเจ้าของนั้นสามารถทำได้อย่างเรียบง่ายกว่า NFT ทุกวันนี้มากๆ ตัวค่ายคอนโซลหรือ publisher ต่างๆ สามารถตั้งเซิร์ฟเวอร์เก็บ ledger ขึ้นมาโดยมีต้นทุนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าเกม การโหลดไฟล์เกม 100GB น่าจะแพงกว่ามาก แต่ทุกวันนี้ก็ให้บริการกันได้โดยไม่เก็บเงินเพิ่ม พวกเขาสามารถเปิดให้แม้แต่คนภายนอกที่ไม่ไม่คอนโซลหรือบัญชี Steam สามารถซื้องานชิ้นต่างๆ สะสมไว้ publisher สามารถอนุญาตให้ลูกค้าย้าย “เครื่อง” ไปมาได้ข้ามแพลตฟอร์ม หากเกมนั้นลงหลายแพลตฟอร์มอยู่แล้ว

บริการสตรีมเพลงบางรายในเกาหลีเปิดให้สมาชิก “ซื้อ” เพลงด้วยเครดิตที่ได้มาทุกเดือน (โมเดลการจ่ายเงินน่าจะเป็นแบบ Super Like ที่ศิลปินคนนั้นจะได้เงินเยอะเป็นพิเศษเทียบกับการฟังตามปกติ) แต่เดิมนั้นการซื้อจะต้องเป็นแบบ no DRM อย่างเดียว หากมีศูนย์กลาง portable DRM ที่ย้ายไปใช้แพลตฟอร์มอื่นได้กว้างขวางก็จะเป็นอีกตัวเลือก แน่นอน DRM มีปัญหาในตัวมันเองหลายอย่าง แต่การที่แพลตฟอร์มเปิดให้ถ่ายโอน DRM ไปมาก็จะลดปัญหาของมันไปอีกหนึ่งอย่างคือความเป็นเจ้าของของผู้ซื้อ

ประเด็นอย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตกลัวอาจจะเป็นการเปลี่ยนมือที่รวดเร็วเกินไป เลยชอบขายเป็นแผ่น เพราะส่งช้าดี ทำให้มีการเช่าใช้ระยะสั้นจนกระทบต่อการเป็นเจ้าของ อาจจะมีรายการเช่าใช้รายชั่วโมง กลายเป็นบริการสตรีมมิ่งไป กรณีแบบนี้อาจจะทำแบบแอปเปิลที่ห้ามเปลี่ยนมือสั้นกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ควบคุมได้จากแพลตฟอร์มรวมศูนย์กลางเช่นเดียวกัน รวมถึงคุณสมบัติของ NFT ทุกวันนี้ เช่น เก็บค่า royalty บางส่วนจากการขายต่อ ก็เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมไปได้