ถูกต้องและเที่ยงธรรม

ประเด็นที่คุยกันมากในสังคมไทยช่วงก่อนหน้านี้คือประเด็นเรื่องของความถูกต้อง ก่อนหน้านี้เราอาจจะพูดถึงความถูกต้องในเชิงกฏหมายเสียเป็นส่วนมาก

วันนี้ผมขับรถกลับบ้าน แถวบ้านผมมีไฟแดงที่ไม่ค่อยสมเหตุผลนักอยู่อันหนึ่ง มันไฟแดงเปิดทางให้ทางรองที่ไม่ค่อยมีใครใช้อยู่หนึ่งนาที ปล่อยให้รถทางเอกจำนวนมากต้องหยุดรอกัน รถจำนวนมากเลือกที่จะฝ่าไฟแดงนั้น หลายคันเลือกจากเลี้ยวเข้าช่องซ้าย แม้มันจะไม่ได้ผ่านตลอด แต่คงช่วยให้ความรู้สึกผิดในการฝ่าไฟแดงลดลงไปบ้าง

เด็กแว๊นสองคนซ้อนท้ายกันมา ไม่ใส่หมวกกันน๊อก ทั้งคู่ขับฉวัดเฉวียนมาระยะหนึ่ง แล้วจอดรอไฟแดงข้างๆ ผม…

คนเลวคือใครกัน ระหว่างคนขับรถน่าเสียวไส้ ไม่ใส่หมวกกันน็อก กับคนขับรถชิดซ้ายแล้วฝ่าไฟแดง

สำหรับผมแล้ว ความเลวไม่มีอันดับสอง ไม่มีรองชนะเลิศ ความเลวและความชั่ว ยังคงเป็นความเลวและความชั่วอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อีกอย่างที่ผมเชื่อคือการทำความเลวมูลค่า หรือปริมาณน้อยๆ ไม่ได้บ่งบอกว่าความแลวและความชั่วนั้นน้อยกว่าการทำในมูลค่ามากๆ แต่อย่างใด

เรื่องนี้อาจจะเนื่องจากผมเป็นคริสต์ ที่มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ซื่อสัตย์ในของเล็กน้อยจะซื่อสัตย์ในของมาก” และในบางกรณี “ความคิดก็ผิดไม่ต่างไปจากการลงมือทำ”

ความเลวร้ายในสังคมทุกวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการที่มีคนเลวอยู่ในสังคม ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความเห็นแก่ตัวมาโดยกำเนิด คงไม่แปลกอะไรที่เราจะทำในสิ่งเลวร้ายกันอยู่เป็นประจำในชีวิต แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือการที่เราพยายาม “แบ่งเกรด” ความชั่วร้ายนั้นออกเป็นลำดับขั้น แล้วจัดตัวเองอยู่ในลำดับที่เลวร้ายกว่าสักหน่อย ขณะเดียวกันก็ชี้มือไปยังคนอีกกลุ่มใหญ่ แล้วพยายามบอกกับตัวเองว่าคนเหล่านั้นเลวร้ายกว่าเราเพียงใดกัน

ผมไม่เชื่อว่าความชั่วและความเลว มีขั้น “กว่า” ไม่ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่า ขั้นกว่านั้นมีในกฏหมายเพื่อให้จัดการให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ หลายๆ ครั้งขั้นกว่ามีไว้เพื่อสมดุลแห่งอำนาจ กฏหมายไม่ได้มีไว้วัดคุณธรรม

แต่ถ้าเราคิดว่าอะไรเป็นความชั่ว มันคงต้องเริ่มที่ตัวเองที่จะเปลี่ยน ละ เลิก จากสิ่งเหล่านั้นเพื่อไปยังทางที่ถูกต้อง

ไม่ใช่ชี้ไปที่คนอื่นแล้วบอกว่าคนนั้นทำมากกว่าต้องจัดการก่อน

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

4 thoughts on “ถูกต้องและเที่ยงธรรม

  1. เรื่องบางเรื่องมันตัดสินดีเลวด้วยกฏไม่ได้ครับ

    นิทานเรื่องหนึ่งเล่าว่า มีครั้งหนึ่งผู้หญิงตกน้ำ มีภิกษุสองรูปผ่านมา

    รูปหนึ่งโดดน้ำลงไปช่วย อีกคนยืนดูอยู่ หันซ้ายหันขวาว่ามีคนช่วยได้มั้ย

    ภิกษุที่โดดน้ำไปลากผู้หญิงกลับเข้าฝั่ง และก็พากันกลับวัดไป โดยไม่มีการสารภาพบาป(พระสงฆ์มีกฏต้องสารภาพบาปต่อคณะสงฆ์ในวัดนั้นๆ เมื่อทำผิดกฏข้อใดไป จริงๆมีคำเฉพาะของมันแต่ผมจำไม่ได้) ภิกษุรูปที่อยู่ด้วยก็มาถาม

    “ทำไมท่านไม่ไปสารภาพบาป เรื่องที่ท่านสัมผัสสีกาคนนั้นเมื่อกลางวัน”

    “เราวางสีกาคนนั้นไว้ที่นั่นแล้ว ท่านยังแบกเรื่องนี้ไว้อยู่อีกหรือ???”

    บางที กฏ กับ บาป และ ความชั่ว มันก็ไม่เท่ากัน

    นี่อาจจะเป็นมุมมองในศาสนาพุทธนะครับ

    กฏที่งี่เง่ามีค่าควรให้นับถือหรือไม่???
    กฏที่ไม่มีประโยชน์อะไรมีค่าควรแก่การนับถือหรือไม่???
    กฏที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีค่าควรแก่การนับถือจริงเหรอ???

    เหมือนไฟแดงเปล่าๆ ในแยกที่จะไม่มีรถผ่านมา

    หรือถ้าโยงหน่อยก็อย่างเช่นกฏหมายเจ็ดชั่วโคตรในรัฐธรรมนูญ

    การทำตามค่านิยมในศาสนาบางอย่างที่ล้าสมัย แต่ดันตั้งไว้เป็นกฏ

    การบังคับให้คนอื่นต้อง “เชื่อ” ในกฏที่ไม่รู้ว่ามีค่าควรแก่การนับถือจริงหรือไม่ ผมว่านั่นต่างหาก ที่เป็นความเลว ทำให้คนต้องมานั่งสำนึกบาปโดยไม่จำเป็น

    สิ่งที่ผมต้องการคือ ทำไมถึงไม่ปรับปรุงระบบบ่อยๆ ให้คนรู้สึกว่ากฏเป็นสิ่งที่น่าเคารพมากกว่านี้

    สัญญาณไฟจราจร ก็ควรจะเช็คด้วยว่ามีรถในเส้นนั้นมั้ย

    ไม่ใช่ยัดเยียดให้เคารพจิตสำนึก ทั้งที่มันไม่มีประโยชน์

    แล้วก็มานั่งคิดว่า คนนั้นเลว คนนี้เลว ที่ไม่เคารพกฏอย่างที่เราเคารพ

  2. เห็นด้วยเกือบทั้งหมดนะ แต่ไม่เห็นด้วยอยู่เรื่องความชั่วไม่มีลำดับขั้น

    คิดยังไง หากใครฆ่าคนตายโดยตั้งใจ บาปจะเท่าฆ่ามดตายโดยตั้งใจหรือเปล่าละ

    ผมเชื่อว่ามีนะ และเชื่อว่าความดีความชั่วมันต่างกรรมต่างวาระกัน

    คุณลิ่ว และเด็กแว๊นทำดีแล้วครับที่จอด นั่นคือส่วนความดี

    ส่วนคนที่ฝ่าไฟแดง หรือถ้าอีกวันเด็กแว๊นไปขี่รถกวนเมือง นั่นก็คือส่วนความชั่ว

    ส่วนฝ่าไฟแดง ขับรถกวนเมือง อันไหนมีบาปหนักกว่ากัน? หรือความดีเรื่องไหน จะหักลบความชั่วที่เคยทำเรื่องไหน ได้บ้าง ได้ไหม? ผมว่าอันนี้เป็นสิทธิ์ของพระเจ้าแล้วละครับ :D

    ผมคิดว่าถ้าทำผิดก็ยอมรับผิดที่ตัวเองทำซะก่อน ก่อนจะโยนความสนใจ/ความผิดให้กับคนอื่น ปัญหาของคนบนโลกนี้คือ อย่างที่คุณลิ่วว่า ไม่ยอมรับผิด ถึงยอมรับก็รับแค่ครึ่งเดียว ทีเหลือก็โยนให้คนอื่น หรือไม่ก็โทษ ฟ้า ฝน สวรรค์ หมด

  3. deans4j: อันนี้เป็นหลักความเชื่อของแต่ละคนครับ ไม่แปลกเลยที่คุณดีนจะเชื่อว่ามีลำดับขั้น เพราะความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่อง กรรม เรื่องนรก พวกนี้มีลำดับความดีและความชั่วอยู่ในตัวทั้งนั้น ดีมาก ดีน้อย ชั่วมาก ชั่วน้อย มีระบบวัดอย่างเป็นรูปธรรม

    จริงๆ แล้วผมจะแปลกใจมากถ้าคนอ่านบทความนี้แล้วเห็นด้วยกับผม

    ผมไม่คิดว่าความต่างแบบนี้จะเป็นปัญหาเท่าใหร่ จนมาถึงเร็วๆ นี้นี่ล่ะ ที่คนไทยพากันเอา “สิทธิ์ของพระเจ้า” มาใช้กันเอง แล้วยกตัวกันไปมาว่าตัวเองนั้นเลวน้อยกว่าคนอื่น (imply ได้ว่าดีกว่าคนอื่นไปโดยปริยาย) แล้วพากันถามหาคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ฯลฯ จากคนอื่นให้มากขึ้น

Comments are closed.