บล็อกนี้ตอบคุณ tanakorn ในบล็อกก่อนหน้านี้ว่าเด็กน่าจะมีสิทธิ์จะเอาตัวรอดด้วยการมุ่งไปที่เงิน

คำตอบผมง่ายๆ ครับ

ผมเชื่อว่าเด็กคิดถูกแล้วครับ ที่ทำอย่างนั้น ผมมีลูกแล้วลูกเลือกเรียนคณะที่จบมาแล้วจนผมคงคิดมากจนหัวหงอกเอาเหมือนกัน
สิ่งที่ทำให้การเรียนวิศวกรรมคือการที่มีแต่เด็กที่คิดแต่เรื่องเงินมาเรียนเต็มคณะ

ง่ายๆ คือผมไม่ได้โทษเด็ก…..

สิ่งที่แย่ไม่ใช่การที่เด็กคนหนึ่งจะคิดแต่เรื่องเงินแล้วเข้ามาเรียนวิศวฯ แต่สิ่งที่แย่คือคณะที่เต็มไปด้วยแต่เด็กที่คิดแต่เรื่องเงิน

ทุกคนคิดเรื่องเงินแน่ๆ ครับ ผมก็คิด และทุกคนก็ควรคิด  บางคนอาจจะเป็นเหตุผลเดียวของการเรียน บางคนอาจจะเป็นเหตุผลที่สาม สี่ ห้า  มันไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าค่อนคณะเต็มไปด้วยความคิดแบบนี้ ก็น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ผมลองไล่ๆ ดู

  • ระบบการแนะแนวที่อ่อนด้อยของบ้านเรา ไม่สามารถชี้นำเด็กและผู้ปกครองให้ส่งเด็กไปยังสายการเรียนที่เหมาะสมได้
  • แนวทางการศึกษาประหลาดๆ ที่จำกัดสิทธิ์เด็กสายศิลป์ไม่ให้เข้าคณะสายวิทย์ จำกัดปริญญาตรีไม่ให้ต่อปริญญาโท บ้านเราเลือกผิดตอน ม. สามนี่ชีวิตจะไม่มีโอกาสแก้ไขกันเลยครับ
  • การศึกษาสายอาชีพที่ภาพรวมยังอ่อนแอ วิศวกรคอมพิวเตอร์กว่าครึ่งจบมาก็ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ ไม่ได้ออกแบบหรือใช้ความรู้ทางวิศวกรรมใดๆ ถ้าระบบการเรียนสายอาชีพ ถ้าจบปวศ. พร้อม SCJP ได้ ได้เงินเดือนสัก 25k แล้วจะเสียเวลาเรียนนานๆ ทำปริญญาไปทำไมกัน?
  • สังคมที่บีบบังคับเด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่

ข้อเสียที่เกิดขึ้นเพราะการที่เด็กคิดแต่เรื่องเงินมีเยอะมาก หลักๆ คือเสียบรรยากาศในการเรียน เด็กหลายคน ที่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์แต่ต้องมาเรียนวิศวะ พอเจอวิชายากๆ และอาจจะไม่ได้ใช้เพราะจะเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ได้อยากเป็นวิศวกร ก็พาลไม่อยากเรียน แย่ลงไปอีกก็ซิกแซกหาทางให้ได้เกรดมาให้ได้ ความรู้ไม่ต้องสนใจเพราะไม่ได้ใช้อยู่แล้ว

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

5 thoughts on “

  1. ที่เยอรมัน ถ้าเลือกผิดก็ไม่มีโอกาสแก้ตัวเหมือนกันครับ ยิ่งประเภทโง่ตอนมัธยมแต่มาเก่ง
    เอาตอนมหาวิทยาลัยแบบหลาย ๆ คนบ้านเรานั้นไม่มีโอกาสเลย เพราะถ้าโง่ตอนมัธยมก็
    หมดสิทธิเข้ามหาวิทยาลัย บ้านเรายังดีกว่าที่มีมหาวิทยาลัยเปิด

    Prof. เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่กลับดูถูกอาจารย์ FH (ประมาณราชมงคล)อย่างมาก ไม่
    ได้ดูที่เนื้อหาเลย

    สิ่งที่ไทยควรจะแก้มาก ๆ ก็คือควรให้ความทัดเทียมกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์
    เสียที ต่างประเทศเนี่ย MSc มีศักดิ์ศรีสูงกว่า M.Eng ซะอีก

  2. พี่ก็เลือกเรียนวิศวะเพราะเงินเหมือนกัน แต่ก็มีความชอบเข้ามาผสมด้วย ตอนนั้นเด็กๆ ก็คิดแค่ง่ายๆ ว่า ถ้ามีสติปัญญาจะเรียนวิศวะได้ และชอบวิชาคำนวณ แทนที่จะเลือกคณะที่จบมาแล้วต้องลำบากลำบนทำงานเหนื่อยพอๆ กัน แต่เงินเดือนน้อยกว่า งั้นเราก็เลือกเรียนวิศวะดีกว่า

    ทั้งๆ ที่จริงมีความสุขกับการวาดรูปมากกว่านะ แต่กลัวจะหาเงินได้ไม่พอยาไส้ แถมไม่พอช่วยค่าใช้จ่ายพ่อแม่อีกต่างหาก

    พ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับ (อันที่จริงแกไม่เคยออกความเห็นเรื่องการศึกษาเลย ให้อิสระเต็มที่) ทั้งหมดคิดเองเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจของครอบครัว และภาพรวมของภาวะ engineering boom ณ พศ. นั้น

    ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าถ้าเลือกอีกทาง ชีวิตจะมีความสุข ประเทศชาติจะเจริญกว่านี้รึเปล่านะ แต่เท่าที่ประเมินตัวเอง ก็มีความสุขกับการทำงานพอสมควร และก็มีความสุขกับชีวิตพอสมควร เช่นกัน

  3. ไม่รู้ว่าบล็อกนู้นผมแปลความผิดเองรึปล่าวนะครับ แต่อันนี้อ่านแล้วเห็นด้วยครับ ตรงที่ว่าสังคมบีบบังคับให้เด็กมาเลือกเรียนวิศวะ(เพราะคณะวิทยาฯในไทยดูด้อยกว่าวิศวะฯ) แต่ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดพ่อแม่หรอกนะครับ เพราะการที่พ่อแม่อยากให้เด็กมาเรียนวิศวะฯก็สืบเนื่องจากค่านิยมทางสังคมอีกทีนึงครับ เค้าก็เลยอยากให้ลูกได้เรียนคณะที่สังคมมองว่าดีครับ ไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่โดยตรง

    ขอบคุณครับสำหรับความเห็น

  4. กลับไปคิดไปคิดมา พ่อแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วยนี่หน่า เพราะพ่อแม่คิดแบบนี้เด็กก็เลยคิดตาม พอเด็กโตขึ้นมีลูกก็คิดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อ้าว แล้วอย่างนี้จะแก้ได้ไงหละเนี่ย เออ อันนี้ไม่รู้จะพูดไงดีเหมือนกันครับ

  5. ผลผลิตที่ล้มเหลวจากระบบที่ล้มเหลว?

Comments are closed.